ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค.ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 เหตุคนกังวลสถานการณ์น้ำท่วม ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ และยังกังวลเศรษฐกิจโลกที่ไม่ฟื้นตัวดีจนมีผลต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงมีปัญหาเรื่องค่าครองชีพสูง แนะรัฐเร่งอัดฉีด ทั้งการลงทุนและดันเศรษฐกิจฐานราก ส่วนการประเมินน้ำท่วมเหนือ-อีสานเสียหาย 9,574 ล้านบาท เศรษฐกิจลดลงแค่ 0.06%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค. 2560 ปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 73.9 ลดลง จาก 74.9 ในเดือน มิ.ย. 2560 ซึ่งลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือนนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2560 ที่ดัชนีอยู่ที่ 74.5 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 51.7 ลดจาก 52.9 ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน นับจากเดือน ธ.ค. 2559 ที่ดัชนีอยู่ที่ 51.7 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 83.1 ลดจาก 84.1 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 62.2 ลดจาก 63.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 69.1 ลดจาก 70.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 90.4 ลดจาก 91.5
สาเหตุที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ มาจากผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรส่วนใหญ่ยังทรงตัวอยู่ระดับต่ำในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะราคาข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และสับปะรดโรงงาน ส่งผลให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดลดลง
นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้น จึงวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวระดับสูงไม่สอดคล้องกับรายได้ในปัจจุบัน รวมถึงผู้บริโภคยังกังวลต่อการแก้ไขปัญหาแรงงาน หลังจากที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.บริหารจัดการแรงงานต่างด้าว แต่ยังจัดการไม่เสร็จสิ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน
“รัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ เร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากเพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน ซึ่งจะช่วยให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการใช้จ่ายปรับตัวดีขึ้น” นายธนวรรธน์กล่าว
นายธนวรรธน์กล่าวว่า ศูนย์ฯ ได้ประเมินผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ เบื้องต้นพบว่ามีความเสียหายกว่า 9,574 ล้านบาท จากภาคการเกษตร 4,774 ล้านบาท ภาคธุรกิจ การค้า และอุตสาหกรรม 3,434 ล้านบาท โครงสร้างพื้นฐาน และทรัพย์สินต่างๆ เช่น ถนน ระบบสาธารณูปโภค 1,366 ล้านบาท โดยมีผลทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยโดยรวมลดลง 0.064% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อ ความเสียหายไม่น่าจะเกิน 15,000 ล้านบาท หรือกระทบเศรษฐกิจไม่เกิน 0.03-0.05% ของจีดีพี
“คาดว่าภายใน 2 เดือนน่าจะฟื้นฟูสถานการณ์ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ จึงไม่น่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมในช่วงครึ่งปีหลัง และยังคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 3.6% ตามเป้าหมายเดิม แต่ศูนย์ฯ จะทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจใหม่อีกครั้งในเดือน ก.ย.นี้” นายธนวรรธน์กล่าว