xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นขาลง กำลังซื้อหดวูบ เนื่องจากความเปราะบาง ศก. นายแบงก์จี้รัฐกระตุ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดัชนีเชื่อมั่นขาลง กำลังซื้อหดวูบ เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลด้านกำลังซื้อ และความเปราะบางของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะระดับฐานราก หลังราคาสินค้าเกษตรสำคัญเริ่มชะลอลง อีกทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลต่อการส่งออกในระยะถัดไป นายแบงก์จี้รัฐกระตุ้น

นายพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยดัชนีธุรกิจกรุงไทย (Krung Thai Business Index : KTBI) ในไตรมาสที่ 2/2560 ว่า ค่อนข้างอ่อนไหว และวกกลับไปลดต่ำกว่าระดับปกติ (50) ที่ระดับ 49.38 จากระดับ 50.56 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลด้านกำลังซื้อ และความเปราะบางของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะระดับฐานราก หลังราคาสินค้าเกษตรสำคัญเริ่มชะลอลง อีกทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลต่อการส่งออกในระยะถัดไป นอกจากนี้ ยังกังวลต่อการบริหารจัดการแรงงาน และต้นทุนการผลิต หลังรัฐบาลเตรียมบังคับใช้กฎหมายแรงงานต่างด้าว

ส่วนผลสำรวจ กรุงเทพฯ และปริมณฑล แม้ความเชื่อมั่นลดลง แต่เป็นภูมิภาคที่มีความเชื่อมั่นสูงสุด เนื่องจากจะมีการลงทุนด้านคมนาคมเกิดขึ้นอีกหลายโครงการ เช่น รถไฟฟ้าสายสีเหลือง, สีชมพู, สีส้ม และสีม่วงส่วนต่อขยาย ภาคตะวันออก ความเชื่อมั่นลดลงจากการท่องเที่ยวที่ยังได้รับผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ แม้จะได้รับแรงหนุนจากการส่งออก และความคาดหวังต่อโครงการ ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC

นายพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง กล่าวต่อไปว่า สำหรับในไตรมาสที่ 3/2560 หากรัฐบาลดึงการลงทุนเข้าสู่ EEC ได้มากขึ้น และขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ได้ตามเป้า รวมถึงผู้ประกอบการมีความพร้อมกับเรื่องการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่มีความชัดเจน จะช่วยหนุนความเชื่อมั่นให้ดีขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 73.9 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ และปรับลดลงในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เช่น ข้าว, ยางพารา, มันสำปะหลัง, ข้าว ฯลฯ ส่งผลต่อกำลังซื้อในต่างจังหวัดลดลง

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT กล่าวว่า การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะกลับมาเป็นบวกได้ในปลายไตรมาส 3-4/60 จากไตรมาส 1/60 ติดลบไป 1.1% และคาดว่าไตรมาส 2/60 จะยังคงติดลบต่อเนื่อง โดยการลงทุนภาคเอกชนที่ติดลบมาจาก 4 ปัจจัยหลัก เช่น นโยบายการเงินของสหรัฐฯ และจีน ที่ยังมีความไม่แน่นอน กำลังการผลิตที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อุปทานส่วนเกินล้นตลาด และความต่อเนื่องนโยบายของภาครัฐ ส่วนเรื่องค่าเงินบาทนั้น ธนาคารได้ปรับประมาณการเช่นเดียวกัน โดยมองว่า ค่าเงินบาทจะแข็งค่ากว่าที่คาดไว้ ซึ่งสิ้นปีนี้มองไว้ที่ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิม 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างทรงตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ซึ่งถือว่าแย่กว่าตลาดหุ้นอื่น ๆ ทั่วโลก รวมทั้งตลาดในภูมิภาคพอสมควร ด้วยเหตุที่เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังไม่ได้มีปัจจัยบวกขับเคลื่อนที่ชัดเจน การบริโภคในประเทศยังค่อนข้างซบเซา ส่วนที่สามารถเป็นความหวังของเศรษฐกิจได้ จะมาจากภาคการท่องเที่ยวการเดินหน้าเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาล และการเปิดประมูลโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ออกมามากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น