TMB เล็งปรับคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้มาอยู่ในกรอบ 3.3-3.7% จากเดิม 3.3% หลังส่งออก-ท่องเที่ยวโตกว่าคาด
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่เติบโตในกรอบ 3.3-3.7% จากเดิมที่ประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเติบโตอยู่ที่ 3.3% เนื่องจากในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว มีการเติบโตที่ดีกว่าที่ธนาคารคาดการณ์ไว้
โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออกในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เติบโตสูงถึง 7% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ ซึ่งธนาคารคาดว่าจะปรับประมาณการการขยายตัวของตัวเลขการส่งออกในปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ในกรอบ 4-5% จากประมาณการเดิม 3.7% ส่วนการท่องเที่ยวยังได้รับอานิสงส์จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังนิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น โดยปัจจัยหลักทั้ง 2 ปัจจัย ช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ธนาคารมองว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการขยายตัวของเศราฐกิจในประเทศที่มาจากปัจจัยภายในประเทศที่สำคัญ คือ กำลังซื้อในประเทศที่ยังชะลอตัว ส่งผลให้การบริโภคภาคครัวเรือนชะลอตัวตามไปด้วย เห็นได้จากกลุ่มเกษตรกรที่ตั้งแต่ไตรมาส 2/60 เป็นต้นมา ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงหลังไตรมาส 1/60 ที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันกำลังซื้อของประชาชนกลุ่มใหญ่เกิดการชะลอตัว ซึ่งกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจัยของกำลังซื้อที่ชะลอตัวมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ค่อนข้างมาก ทำให้มองว่า การดำเนินธุรกิจของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ยังเผชิญกับความยากลำบากต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีปัจจัยกดดันการดำเนินงานจากต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น จากการปรับขึ้นค่าแรงในช่วงต้นปี และมีความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังมีความผันผวน ทำให้ปัจจุบันจะเห็นว่า แนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจเอสเอ็มอีที่ธนาคารได้สำรวจมายังไม่เพิ่มขึ้นกลับไปที่ระดับ 50
“ปัจจัยเศรษฐกิจไทยที่เป็นไส้ในยังไม่ฟื้นขึ้น โดยเฉพาะกำลังซื้อที่ชะลอตัวเป็นปัจจัยที่ยังคงกังวล และจะมีผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่ยังต้องเผชิญกับความยากลำบากต่อไปในช่วงครึ่งปีหลัง และยังมีปัจจัยอื่นๆที่ยังกังวล และมีผลกระทบต่อเอสเอ็มอี นอกเหนือจากภาวะเศรษฐกิจ คือ ความกังวลในเรื่องสภาพคล่อง และค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น” นายเบญจรงค์ กล่าว
ความยากลำบากของการดำเนินธุรกิจของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีมีผลต่อแนวโน้มของสัดส่วนหนี้ที่ให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อเอสเอ็มอีในระบบธนาคารพาณิชย์ให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 60 จากผลกระทบของกำลังซื้อที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม มองว่าจะเริ่มเห็นทิศทางของ NPL ในกลุ่มเอสเอ็มอีที่ลดลงในปี 61 แต่จะเป็นการเริ่มต้นปีในระดับสูง ซึ่งมองว่าปี 60 จะเป็นปีสุดท้ายของวัฏจักรปัญหา NPL ของระบบ
ส่วนค่าเงินบาทในปีนี้ยังมองว่าอยู่ที่ระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แนวโน้มแข็งค่า และมีความผันผวนมากขึ้น โดยแนะนำให้ผู้ประกอบการทุกรายทำประกันความเสี่ยง ขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการนำเข้าจะเริ่มลงทุน สั่งซื้อสินค้า หรือนำเข้าเครี่องจักรในภาวะที่ค่าเงินบาทยังแข็งค่า