ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค.ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 7 เดือน หลังภัยแล้งคลี่คลาย ราคาเกษตรเพิ่ม น้ำมันลดต่อเนื่อง คาดกำลังซื้อคนไทยจะเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป หากเศรษฐกิจโลกไม่ผันผวน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐได้ผล
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.ค. 2559 จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 2,247 คน ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม เท่ากับ 61.4 เพิ่มขึ้นจาก 60.6 ในเดือน มิ.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานเท่ากับ 67.4 เพิ่มจาก 66.5 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 88.7 เพิ่มจาก 87.6 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเท่ากับ 72.5 เพิ่มจาก 71.6 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันเท่ากับ 52.4 เพิ่มจาก 51.7 รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตที่เท่ากับ 80.5 เพิ่มจาก 79.5
สำหรับปัจจัยบวกที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้น มาจากสถานการณ์ภัยแล้งได้คลี่คลายลง ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการปรับตัวสูงขึ้น ทำให้รายได้ภาคเกษตรดีขึ้น ราคาน้ำมันขายปลีกปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยแก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 1.20 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 ลดลง 1.35 บาทต่อลิตร และดีเซลลดลง 1.20 บาทต่อลิตร Set Index เพิ่มขึ้น 79.08 จุด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงวันหยุดเข้าพรรษาและอาสาฬหบูชา ที่ให้นำใบกำกับภาษีมาลดหย่อนภาษีได้ และเงินบาทแข็งค่าขึ้น
ส่วนปัจจัยลบ มาจากการส่งออกเดือน มิ.ย.ยังคงลดลง 0.07% สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2559 โต 3.3% แต่ปรับลดเป้าส่งออกเป็นติดลบ 1.9% จากเดิมลบ 0.7% มีความกังวลเกี่ยวกับการทำประชามติในการรับร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการจัดการเลือกตั้งและรัฐบาลชุดใหม่ ราคาเกษตรแม้จะเพิ่มแต่ยังทรงตัวในระดับต่ำ กำลังซื้อในต่างจังหวัดยังไม่ดีขึ้น มีการวิตกเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง และรับรู้ว่ารายได้ไม่สอดคล้องกับรายจ่าย
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฯ คาดว่าการบริโภคของภาคประชาชนน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น เพราะคนเริ่มคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่คลี่คลายลง ราคาพืชผลทางการเกษตรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น และผลกระทบของสถานการณ์ Brexit ที่มีผลลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกไม่มากนัก โดยการฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ถ้าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง และประสิทธิภาพของการใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นเป็นรูปธรรม