ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย.ปรับตัวลดลงทุกรายต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และต่ำสุดในรอบ 25 เดือน หลังเจอ Brexit ขย่ม ส่งออกติดลบ ราคาเกษตรยังตกต่ำ ค่าครองชีพสูง แถมเจอว่างงานพุ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี
นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน มิ.ย. 2559 จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ จำนวน 2,249 คน ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม เท่ากับ 60.6 ลดจาก 61.1 ในเดือน พ.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางาน เท่ากับ 66.5 ลดจาก 67.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต เท่ากับ 87.6 ลดจาก 89.0 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเท่ากับ 71.6 ลดจาก 72.6 ดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันเท่ากับ 51.7 ลดจาก 51.9 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตเท่ากับ 79.5 ลดจาก 80.9
สำหรับปัจจัยลบที่กระทบต่อความเชื่อมั่น ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับผลการลงประชามติ Brexit จะมีผลให้เกิดความผันผวนต่อเศรษฐกิจโลก การส่งออกไทยเดือน พ.ค.ติดลบ 4.40% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ราคาพืชผลทางการเกษตรแม้จะปรับตัวดีขึ้นแต่ยังทรงตัวในระดับต่ำ และผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าทรงตัวสูง
ส่วนปัจจัยบวกก็มี แต่ไม่ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น เช่น สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มมีสัญญาณคลี่คลาย ส่งผลทำให้ราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ราคายางพาราเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับลดลง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี SET Index ในเดือน มิ.ย.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 20.71 จุด เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 35.305 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และต่ำสุดในรอบ 25 เดือน นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2557 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ Brexit ที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย และผู้บริโภคยังรู้สึกว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันฟื้นตัวค่อนข้างล่าช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาพืชผลทางการเกษตรยังตกต่ำ ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศฟื้นตัวไม่มาก
นอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราการว่างงานของคนไทยสูงขึ้นเป็น 1.2% สูงสุดในรอบ 5 ปี คิดเป็นจำนวนแรงงาน 3-4.5 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจบใหม่ สะท้อนว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ยังไม่เกิดการจ้างงานใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของหอการค้าทั่วประเทศที่ระบุว่าไม่มีแผนปลดคนงาน แต่ไม่มีแผนจ้างแรงงานใหม่ ส่วนกรณีโตโยต้าลดการจ้างงาน เป็นเรื่องของการปรับตัวให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ ไม่เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ผลจากกรณี Brexit และเศรษฐกิจโลก ศูนย์ฯ ได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้อยู่ในกรอบ 2.7-3.2% ลดลงจากก่อนหน้าที่คาดว่าจะขยายตัว 3-3.5% ส่วนการส่งออกคาดว่าจะอยู่ที่ 0% ถึงติดลบ 2% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 0-1%
สำหรับผลสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนด้านต่างๆ พบว่า ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่ในเดือน มิ.ย. 2559 เท่ากับ 75.3 ลดจากเดือน พ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 79.3 ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่เท่ากับ 56.7 ลดจาก 59.7 ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวเท่ากับ 59.4 ลดจาก 61.1 และดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจ (SMEs) เท่ากับ 41.6 ลดจาก 42.9