xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค เม.ย.ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน เหตุคนกังวลภัยแล้ง-ค่าครองชีพพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 7 เดือน เหตุภัยแล้งฉุดรายได้เกษตรกรลด ค่าครองชีพยังสูง คนมีรายได้ไม่พอรายจ่าย

นายปรีดา โพธิ์ทอง รองผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. 2559 ว่า ดัชนีทุกรายการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และลงมาอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ 72.7 ลดจาก 73.5 ในเดือน มี.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 61.5 ลดจาก 62.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ 68.0 ลดจาก 68.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 88.5 ลดจาก 89.5

ปัจจัยลบที่ฉุดดัชนีลดลง มาจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2559 เหลือ 3.3% ความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน การปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นโลก ตลอดจนสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่ยังไม่มีเสถียรภาพ ราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น และผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง

ส่วนปัจจัยบวกมีเพียงการส่งออกของเดือน มี.ค.ที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.30% ส่งผลให้ 3 เดือนแรก พลิกกลับมาเป็นบวก 0.90% และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา และการแข็งค่าเล็กน้อยของเงินบาทจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ

สำหรับการสำรวจภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับลดลงทุกรายการเช่นกัน โดยดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่อยู่ที่ 81.3 ลดลง 82.9 ในเดือน มี.ค. ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่อยู่ที่ 61.5 ลดจาก 62.9 ดัชนีความเหมาะสมเพื่อการท่องเที่ยวอยู่ที่ 62.6 ลดจาก 64.3 และดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจอยู่ที่ 44.5 ลดจาก 45.3

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีทุกรายการปรับลดลงเป็นเดือนที่ 4 และลงมาอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน เนื่องจากประชาชนมองว่ายังมีรายได้น้อย การจ้างงานโดยรวมยังไม่ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องผลผลสำรวจของสำนักต่างๆ ที่พบว่าคนค่อนข้างมีความกังวลเรื่องการจ้างงาน หากจะถามว่าค่าครองชีพสูงหรือไม่ ก็ไม่ได้สูงมาก แต่คนรู้สึกว่ารายได้น้อย ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน

ทั้งนี้ ผลจากการที่ผู้บริโภคระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย ทำให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกจะไม่โตโดดเด่น คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.5-3% หรือเฉลี่ย 2.8% แต่น่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง จากสัญญาเชิงบวกของการส่งออกที่เริ่มดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้ของเกษตรกรและกำลังซื้อที่อาจเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าเศรษฐกิจทั้งปีจะขยายตัวในช่วง 3-3.5% โดยจะมีการปรับประมาณการณ์อีกครั้งในวันที่ 12 พ.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น