xs
xsm
sm
md
lg

กองสลากเปิดประชาพิจารณ์ทำหวยชุด ก่อนชงบอร์ดเคาะเดือน มิ.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ธนวรรธน์” เผยกองสลากเตรียมเปิดประชาพิจารณ์ให้ผู้ซื้อ ผู้ขาย และเอ็นจีโอ แสดงความเห็นแนวทางทำหวยชุด ก่อนกรองเหลือ 2-3 ทางเลือก ชงบอร์ดสลากเคาะเดือน มิ.ย.นี้ ส่วนการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ เตรียมผลักดัน 3 แนวทาง ดันราคายางแตะกิโลฯ ละ 50 บาทใน 3 เดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย โฆษกคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเตรียมเปิดประชาพิจารณ์ถึงแนวทางการรวมสลาก (หวยชุด) โดยจะเปิดให้ผู้ซื้อที่มีอยู่ประมาณ 20 ล้านคน ผู้ขาย 100,000 คน และภาคประชาสังคม (เอ็นจีโอ) อีกกว่า 100 องค์กร แสดงความเห็นเข้ามาว่าอยากได้สลากในรูปแบบใด อย่างไร และต้องการซื้อจากใคร ที่ไหน จากนั้นจะคัดกรองเหลือ 2-3 ทางเลือก เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล (บอร์ดกองสลาก) ในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาอนุมัติ

“ขณะนี้มีผู้ที่ส่งความคิดเห็นเข้ามาแล้วประมาณ 1,000 กว่าราย ส่วนใหญ่ 65-70% สนับสนุนให้กองสลากเป็นผู้ดำเนินการรวมชุดเอง ส่วนรูปแบบก็มีทั้งแบบใบเดียว 400 บาท แบบ 5 ใบ 400 บาท และแบบเลขเดียว 5 ใบ 400 บาท”

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.จะมีการลงพื้นที่ทั้ง 4 ภาค เพื่อติดตามสถานการณ์การขายสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมทั้งรับฟังความเห็น เพราะกองสลากตั้งใจที่จะทำให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ให้เห็นผลภายใน 3 เดือน โดยจะพยายามรับฟังความเห็นทุกฝ่ายแล้วประเมินแบบ 360 องศาเพื่อให้ครบทุกมิติ

ทั้งนี้ เชื่อว่าการดำเนินการของกองสลากจะทำให้กระบวนการรวมชุดเองทำได้ไม่ง่าย และไม่มีข้ออ้างที่จะขายเกินราคา เพราะราคาขายส่งจากกองสลาก 5 ใบจะอยู่ที่ 350 บาท โดยการทำประชาพิจารณ์ครั้งนี้จะเป็นการเปิดเผยให้ประชาชนเห็นหมดว่ามีความคิดเห็นอย่างไร เพราะเป็นกระแสที่คนให้ความสนใจ และยังเป็นการวางรากฐานในการแก้ปัญหา รวมไปถึงแนวทางการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของกองสลาก

นายธนวรรธน์กล่าวถึงแนวทางผลักดันราคายางพาราในประเทศว่า ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้จัดทำแนวทางผลักดันราคายางพาราในประเทศ 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 1. การเพิ่มปริมาณความต้องการยางพาราในประเทศ ด้วยการประสานกับหน่วยงานราชการในการนำยางพาราไปเป็นส่วนผสมทำถนน และแปรรูปในรูปแบบต่างๆ เช่น หมอนยางพารา และชีวมวล รวมทั้งหาตลาดใหม่เพิ่มเติมและเจาะตลาดเก่า 2. เร่งการหารือภายใต้กรอบข้อตกลงระหว่าง 3 ประเทศผู้ผลิตและส่งออกยาง ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย และ 3. ลดปริมาณยางและพื้นที่ปลูกยาง โดยตั้งงบประมาณกลางปีวงเงิน 1,500 ล้านบาท เพื่อเชิญชวนให้ชาวสวนยางที่ปลูกยางอายุ 1-25 ปีเปลี่ยนไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นแทน รวมทั้งยังมีมาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้ชาวสวนยาง ทั้งการฝึกอบรมเสริมอาชีพ การให้เงินทุนหมุนเวียนและสินเชื่อ เป็นต้น

“การเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ คือการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราร่วมกับ 3 ประเทศไม่ให้ลดลงไปกว่านี้ ซึ่งเชื่อว่าหากทุกอย่างสามารถทำงานไปในทิศทางเดียวกัน น่าจะทำให้ราคายางพาราดีขึ้น จะสูงเท่าไรยังไม่สามารถตอบได้ แต่เชื่อว่าเป็นไปได้ที่จะมีโอกาสเห็นราคายางพาราเกินกิโลกรัม (กก.) ละ 50 บาท ภายในช่วง 3 เดือนจากนี้” นายธนวรรธน์กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยผลิตยางพาราได้ 4.6 ล้านตัน/ปี ใช้ภายในประเทศเพียง 600,000 ตัน/ปี แต่ส่งออกมากถึง 4 ล้านตัน จึงทำให้ราคายางพาราไทยถูกกำหนดจากราคาตลาดโลกเป็นหลัก และปัจจุบันราคายางพาราไทยในตลาดส่งออกเฉลี่ยสูงกว่าอินโดนีเซียและมาเลเซียประมาณกิโลกรัมละ 1-2 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น