xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” นำทัพกู้ราคายางโค้งสุดท้ายเสี่ยงรุ่ง-ร่วงกันทั้งทีม!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

“ขอให้รักษาการผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) (นายธนวรรธน์ พลวิชัย) ไม่ต้องรอให้มีการตั้งคณะกรรมการ กยท. ให้ครบ แต่ให้เร่งหารือกับรัฐมนตรีเกษตรแล้วหาทางควบคุมปริมาณยางให้ได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการให้เกษตรกรชะลอการกรีดยาง เรื่องนี้ไม่ต้องรอประชุมให้ครบ ขอให้ลุยทำก่อนเลย โดยต้องมีมาตรการจะระงับหรือชะลอกรีดยางกี่ล้านไร่ แล้วจะใช้เงินเท่าไหร่เพื่อจ่ายชดเชยให้เสนอมา”

“กยท. ต้องจับมือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และประสานกับ นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ว่าจะใช้วงเงินเท่าไหร่ เพื่อให้ชาวบ้านมีเงินใช้จ่ายอยู่ได้ช่วง 3 เดือนที่ไม่ได้กรีดยาง ซึ่งถ้าทำได้จริงๆ แค่ 2 เดือนราคายางก็น่าจะขึ้นแล้ว”

“ถ้า กยท. ทำไม่ได้ก็ยุบทิ้งไป ฝากบอกบอร์ด กยท. ดูด้วย ต้องรู้ว่าตอนนี้ซัพพลายในตลาดโลกไม่มี หรือถ้าคิดว่ามี ถ้าแน่จริงไปหามา ที่ผ่านมากว่าจะตั้งกรรมการ กยท. ได้ครบ รำไปรำมา จนยางขึ้นราคาเอง ต่อไปนี้ถ้าหน่วยงานนี้ขับเคลื่อนไม่ได้ หรือมีปัญหาเหมือนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีบอกว่ายังมีอีกกว่า 100 อัตราที่ให้ไปนั่งที่สำนักนายกรัฐมนตรี ท่านนายกฯ ส่งสัญญามาแล้วว่า ถ้าหน่วยงานใดมีปัญหา หรือมีการทุจริต หรือไม่ทำตามนโยบาย ท่านจะโยกไปสังกัดสำนักนายกฯ เลย รัฐบาลต้องการคนทำงานตั้งใจจริง คนที่มุ่งช่วยเกษตรกรมาก่อนเป็นอันดับหนึ่ง”

นั่นคือ แอ็กชั่นล่าสุดของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 28 มีนาคมต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 29 มีนาคม ที่เดินสายไปย้ำนโยบายเพื่อแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างเร่งด่วน โดยเริ่มจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และข้ามมาที่กระทรวงพาณิชย์ในวันรุ่งขึ้น

แน่นอนว่า หน่วยงานที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนก็ต้องเป็นการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่อยู่การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ก่อนหน้านี้ เพิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพิ่งใช้คำสั่ง คสช. ปลดผู้ว่าการยางฯออกจากตำแหน่งและมีการแต่งตั้งรักษาการคนปัจจุบันไปหมาดๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการบริหารงานภายในองค์กรที่ล้มเหลว ไม่อาจแก้ปัญหามากมายทั้งปัญหาเก่าสะสมและปัญหาใหม่ที่ประดังเข้ามา

แต่ขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้แบบที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พูดนั่นแหละ แต่สิ่งสำคัญก็คือต้องร่วมมือกัน “แก้ปัญหา” เพราะมันเกี่ยวข้องกันทั้งปัญหาภายในประเทศและระหว่างประเทศ เนื่องจากมีหลายประเทศที่ปลูกยางพารารายใหญ่และเป็นผู้ส่งออกเหมือนกับเรา

สำหรับในประเทศก็ต้องร่วมมือกันระหว่าง กยท. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ รวมไปถึงกระทั่งกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงคมนาคมที่ต้อบมีส่วนในการใช้ปริมาณยางพาราธรรมชาติเป็นส่วนผสมในการทำถนนและสนามกีฬาในท้องถิ่น

อย่างไรก็ดี กลไกสำคัญที่สุดก็ยังต้องพึ่งทั้งกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ ที่มีทั้งฝ่ายผลิตและการตลด ซึ่งในเวลานี้อยู่ในกำกับดูแลของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจที่ได่รับมอบอำนาจเต็มมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

รับรู้กันอยู่แล้วว่า ยางพาราเป็นสินค้าที่มีผลทางการเมืองแบบเต็มรูปแบบ หากรัฐบาลไหนราคาสามารถแก้ปัญหาด้านราคาได้ดีก็จะได้เครดิต แต่ที่ผ่านมาแทบทั้งหมดล้วนมาจากกลไกตลาดโลกที่มีราคาสูง ทำให้พวกรัฐบาลเลือกตั้งนำไปเคลมว่าเป็นผลงานของพวกเขา ซึ่งมันก็เป็นสืบเนื่องเป็นลูกโซ่เมื่อมีราคาสูงชาวบ้านก็แห่กันปลูก รัฐบาลก็ส่งเสริมหากจำกันได้มีการส่งเสริมปลูกยาง 4 ล้านไร่ และตามมาด้วยการทุจริต “กล้ายาง” และปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ใช่มีแต่ประเทศไทย เพราะประเทศเพื่อนบ้านที่เคยปลูกอยู่เดิมต่างก็ขยายพื้นที่กันกว้างขวาง จนเวลานี้กลายเป็น “ปริมาณส่วนเกิน” ฉุดให้ราคาต่ำลงแบบติดดินจนเรียกว่า “สี่โลร้อย”

แน่นอนว่า เรื่องกลไกการตลาดนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ส่วนที่สำคัญกว่าก็คือ ความ “ห่วยแตก” ของระบบการจัดการกับปัญหา ที่สำคัญ เมื่อความด้อยประสิทธิภาพขององค์กรบวกกับการ “ทุจริต” มันก็ยิ่งเลวร้ายเป็นสองเท่า อย่างที่บอกว่าเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับยางพาราทั้งประเทศมีจำนวนนับสิบล้านคน หากราคายางต่ำเตี้ยเรี่ยดินแบบนี้มันก็ย่อมส่งผลทางการเมืองกับรัฐบาล กับ คสช. และกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แน่นอน

สำหรับการแก้ปัญหาคราวนี้หากสังเกตก็ต้องบอกว่า สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รับหน้าลงมาขับเคลื่อนสั่งการให้แก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ “ครบวงจร” มีความพยายามชะลอการกรีดยางอย่างน้อย 2 - 3 เดือน ร่วมมือกับประเทศผู้ส่งออกยางเช่น มาเลเซีย อินโดฯ รวมไปถึงเวียดนามให้ลดปริมาณการส่งออกสักระยะหนึ่งเพื่อลดปริมาณส่วนเกินที่ล้นตลาดออกไปก่อน ส่วนในประเทศนอกจากชดเชยเรื่องการสูญเสียรายได้แล้วก็ไม่มีการสนับสนุนให้ปลูกยางเพิ่ม ทำให้พื้นที่การปลูกยางค่อยๆลดลงเพราะจะมีการทยอยโค่นต้นยางลงทุกปีตามอายุของมัน

การแก้ปัญหาแบบนี้หากขับเคลื่อนกันอย่างจริงจังและเป็นเอกภาพระหว่าง กระทรวงเกษตรฯ พาณิชย์ คมนาคม มหาดไทย และจับมือกับเพื่อนบ้าน มันก็น่าจะมีอนาคต ภายในสองเดือนข้างหน้าอย่างที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ว่าเอาไว้

ขณะเดียวกัน ในทางการเมืองเวลามันก็ไล่หลังเข้ามาทุกที เรื่อง “ปากท้อง” มันเป็นเรื่องอ่อนไหว ราคายางพารามันเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญไม่ต่างจาก “ราคาข้าว” ที่ปีนี้ราคาพุ่งกระฉูด เพราะไม่มีสต็อกข้าวจำนวนมหาศาลจากโครงการรับจำนำข้าวคอยกดดันราคา

ดังนั้น เมื่อสามารถยกระดับราคาข้าวได้ดี จนเวลานี้ชาวนาในภาคกลาง อีสานเริ่มเงียบเสียงลง ก็ยังเหลือแต่ราคายางเท่านั้นที่ต้องลุ้นกันหนัก หากในช่วงเวลาที่เหลือช่วงโค้งสุดท้ายแบบเข้าเส้นชัยได้ตามกำหนดมันก็ทำให้ลากดึงกันไปทั้งทีม แต่ถ้าล้มเหลวหรือผิดแผนมันก็จบเห่พังกันทั้งขบวน ตั้งแต่ลูกพี่ยันลูกน้อง ที่สำคัญ งานนี้ “วันแมนโชว์” ไม่ได้เสียด้วยสิ!!


กำลังโหลดความคิดเห็น