xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายชาวสวนยางเดินหน้าค้าน “กยท.” ให้เอกชนเก็บเงินเซส จี้ประธานบอร์ด-ผู้ว่าฯ ลาออก หากไม่ยอมยุติโครงการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - เครือข่ายชาวสวนยางเตรียมเดินหน้าค้านต่อ ในประเด็น “กยท.” ให้เอกชนเก็บเงินเซส เตรียมจัดประชุมเครือข่ายทั่วประเทศ และชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพฯ จี้ประธานบอร์ด และผู้ว่าการยางลาออก หากไม่ยอมยุติโครงการ หรือได้คำตอบที่พอใจ

จากรณีที่แกนนำกลุ่มแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง และสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ เปิดเผยต่อ “MGR Online ภาคใต้” ว่า เวลานี้มีเสียงปี่ กลอง ตะโพน เร่งเร้าชาวสวนยาง เรียกร้องให้ลุกฮือคัดค้านการเปิดให้บริษัทเอกชนสัมปทานการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมส่งออกยาง (เงินเซส) ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทั้งนี้ สถานการณ์เริ่มจะเร่งเร้าสุกงอม ภายหลังจากที่คณะกรรมการ (บอร์ด) กยท.มีมติให้เดินหน้าการเปิดประมูลให้บริษัทเอกชนจัดเก็บเงินเซส (Cess) แทน 3 หน่วยงานหลัก คือ 1.กยท. 2.กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ และ 3.กรมศุลกากร ซึ่งมีหน้าที่ประสานงานจัดเก็บมาแต่เดิม และยังได้มีการออกแถลงการณ์มาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด ทางด้าน นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีหนังสือบันทึกข้อความด่วนที่สุด ลงวันที่ 9 มีนาคม 2561 ถึงผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เรื่อง ข้อเสนอของผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยางพารา 5 ภาค

โดยมีใจความระบุว่า ด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประชุมในพื้นที่ 5 ภาค เพื่อรับฟังปัญหาพร้อมข้อเสนอของเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อนำมากำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ได้มีข้อสรุปพร้อมข้อสั่งการให้ กยท.รับไปพิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้
 

 
1.การบริหารจัดการเงิน CESS ของการยางแห่งประเทศไทย ควรพิจารณาข้อดีข้อเสียในการปรับเปลี่ยนระบบเก็บเงิน CESS โดยเอกชนนั้น ระบบปัจจุบันมีจุดอ่อนที่ทำให้การจัดเก็บค่าธรรมเนียม (CESS) ไม่มีประสิทธิภาพเพราะอะไร เมื่อนำระบบใหม่มาใช้แล้วจะสามารถแก้ไขจุดอ่อนดังกล่าวได้อย่างไร

2.ขอแจ้งเจ้าหน้าที่ กยท.ที่ปฏิบัติงานอยู่ในส่วนภูมิภาคเข้าร่วมประชุมกับกรรมการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด เพื่อให้ข้อมูล และร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหายางพาราในพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีผลผลิตยางพาราตั้งแต่ 500 ตันขึ้นไป

3.แจ้งเจ้าหน้าที่ กยท.ประจำจังหวัด ประสานเกษตรจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัดหารือร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อขอความร่วมมือใช้ยางพาราในแผนงานของหน่วยงานของรัฐให้มากขึ้น

4.แจ้งเจ้าหน้าที่ กยท.ประจำจังหวัดประสานสหกรณ์จังหวัด เพื่อสร้างความเข้าใจแก่องค์กรเกษตรกร เกี่ยวกับกฎหมาย หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการขอสนับสนุนเงินทุน และสินเชื่อในการผลิต รวบรวมผลผลิต และการแปรรูปยางพารา

5.แจ้งเจ้าหน้าที่ กยท.ประจำจังหวัดประสานสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาช่วยเหลือจัดกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ หรือไม่มีหนังสือรับรองการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อยู่ในพื้นที่ฯ เข้าร่วมโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) กำหนด เพื่อให้เกษตรกรมีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ถูกต้องตามกฎหมาย

6.การส่งเสริมการปลูกยางพารา การแปรรูปยางพารา และส่งออกยางพารา ให้ กยท.พิจารณาความสำคัญ และส่งเสริมให้เป็นไปตามมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน (มาตรฐาน FSC) และเร่งรัดแผนงานของ กยท.เพื่อรองรับเงื่อนไขขององค์กรที่เกี่ยวข้องในอนาคต
 

 
และข้อสั่งการในตอนท้าย

ในการนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหายางพาราตามข้อเสนอของเกษตรกรชาวสวนยางพาราดังกล่าวได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 มาตรา 62 จึงขอให้การยางแห่งประเทศไทย ดำเนินการตามประเด็นดังกล่าว และนำเสนอต่อคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรให้เกิดผลสำเร็จ โดยขอให้ กยท. รายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเร่งด่วน

และเมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยาง จ.ตรัง นายประทบ สุขสนาน รองประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย พร้อมคณะกรรมการเครือข่ายฯ ในเขตจังหวัดภาคใต้ และภาคตะวันออก ร่วมกับตัวแทน แกนนำเกษตรกรชาวสวนยาง เกษตรกรชาวสวนยาง พนักงาน เจ้าหน้าที่ในเขตพื้นที่หลายจังหวัดในภาคใต้ ได้ร่วมกันจัดแถลงข่าวการจัดประชุมเกษตรกรชาวสวนยางในวันที่ 14 มีนาคมนี้ เพื่อร่วมกันพิจารณาและขอมติที่ประชุมในประเด็นปัญหาราคายางตกต่ำ ปัญหาจากมาตรการช่วยเหลือแก้ไขวิกฤตปัญหาต่างๆ ของรัฐบาล และ กยท. ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่มองว่า มีความผิดพลาดล้มเหลว

ตลอดไปจนถึงการแสดงท่าทีคัดค้านไม่เห็นด้วยต่อนโยบายของ กยท.ที่เปิดประมูลให้บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมส่งยางพาราออกนอกราชอาณาจักร แทน กยท.ที่มีหน้าที่อยู่แต่เดิม โดยชาวสวนยางมองว่า จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอกชน ซึ่งจะได้รับค่าจ้าง ค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายจากเงินกองทุนพัฒนายางพารา ซึ่งเป็นเงินที่จะต้องมีส่วนสะท้อนย้อนกลับมาสร้างประโยชน์ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ตามมาตรา 49 ของ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ไปถึงปีละกว่า 450 ล้านบาท รวม 5 ปี ก็เกือบๆ 2 พันล้านบาท และอาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน

แม้รัฐมนตรีจะได้มีคำสั่งให้ทบทวน และพิจารณาผลได้ผลเสีย และให้รายงานให้ทราบโดยด่วน แต่คณะกรรมการ กยท.(บอร์ด) และผู้ว่าการ ก็ยังคงเดินหน้าดำเนินการต่อไป โดยมีทีท่าจะไม่ยอมรับฟังเสียงคัดค้านท้วงติงจากฝ่ายใดเลย ถึงแม้จะมากลับลำหลังจากที่ได้มีการประชุมผู้บริหาร ผู้อำนวยการเขต ผู้อำนวยการจังหวัดทั้งประเทศ ในช่วงเย็นของวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมาแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงแค่การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในระดับเขต 7 เขต 7 เวที เพื่อเป็นการชะลอ ประวิงเวลาเท่านั้น ไม่ได้มีการดำเนินการพิจารณาทบทวน หรือยุติโครงการตามที่ทุกฝ่ายเรียกร้องแต่อย่างใด
 

 
ทางเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จึงยังคงเดินหน้าคัดค้านในประเด็นนี้ต่อไป โดยจะมีการเปิดประชุมในภาคใต้ที่ จ.ตรัง ในวันที่ 14 มีนาคมนี้ และในส่วนของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเปิดการประชุมที่ จ.บุรีรัมย์ ในวันที่ 15 มีนาคม 2561 ประสานกับการเปิดประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี ครั้งที่ 1/2561 ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การยางแห่งประเทศไทย (สร.กยท.) ในวันที่ 19 มีนาคม 2561 ที่การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ กทม.

ซึ่งถ้าไม่ได้รับคำตอบยุติโครงอย่างสิ้นเชิงจาก กยท. ภายในวันที่ 19 มีนาคมนี้ คาดว่าการประชุมจะชุมนุมยืดเยื้อไปจนถึงวันวันที่ 21 มีนาคม ซึ่งเป็นวันประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กยท.เพื่อเรียกร้องกดดันให้มีการพิจารณายุติโครงการนี้ ถ้าไม่ได้คำตอบที่เป็นที่พอใจ ก็อาจยกระดับการชุมนุมเรียกร้องให้ประธานบอร์ด และผู้ว่าการ กยท.ลาออก หรือยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เพื่อขับไล่ต่อไป

ข้อสังเกต และข้อวิเคราะห์ต่อประเด็นปัญหานี้คือ การปฏิบัติงานของ กยท.ได้สะสมความผิดพลาดล้มเหลวมาโดยตลอดในทุกๆ ด้าน นับตั้งแต่การแก้ไขวิกฤติปัญหาราคายางพาราตกต่ำ การเข้ามาบริหารยางในสต๊อกตามโครงการของรัฐบาล การเข้าแทรกแซงซื้อยางในตลาดกลางยางพารา เพื่อพยุงราคายาง การบริหารจัดการภายในองค์กร การบูรณาการบริหารงานแบบการมีส่วนร่วมของชาวสวนยาง การจัดประมูลซื้อปุ๋ยยางสวนยางปลูกแทน การจัดทำระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติต่างๆ ตาม พ.ร.บ.กยท.พ.ศ.2561 หลายๆ อย่างที่ทำให้ชาวสวนยางต้องเสียสิทธิและประโยชน์ ต้องสูญเสียโอกาส สูญเสียรายได้ที่ควรจะได้อย่างไม่น่าจะเสีย

จากการบริหารงานและการปฏิบัติงานภายใต้การควบคุม กำกับ การบังคับบัญชาของคณะกรรมการฯ (บอร์ด) และผู้ว่าการ คณะผู้บริหารคณะนี้ ข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะผู้มีอำนาจเต็มในการควบคุม กำกับ บังคับบัญชา กยท.ได้โปรดได้ทำหน้าที่ด้วยความรอบคอบรอบด้าน จัดการปัญหาอย่างเด็ดขาดเข้มแข็งเพื่อเร่งแก้ปัญหาให้รวดเร็วทันเวลา ไม่ให้สร้างปัญหา และสร้างความเสียหายให้แก่ชาวสวนยางยืดเยื้อยาวนานอีกต่อไป ก่อนที่ชาวสวนยางจะเดินหน้าขับไล่ทั้งประธานบอร์ด และผู้ว่าการ กยท. หลังจากวันที่ 19 มีนาคม 2561 นี้
 


กำลังโหลดความคิดเห็น