TFEX ร่วมกับ กยท. ลงนาม MOU สนับสนุนการซื้อขายและส่งมอบยางพารา RSS3D Futures สร้างความมั่นใจในการรับมอบ-ส่งมอบสินค้า
นางสาวรินใจ ชาครพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (TFEX) พร้อมด้วยพันธมิตร ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สมาคมยางพาราไทย และกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนการซื้อขายและส่งมอบสินค้าที่อ้างอิงกับยางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3D Futures) ระหว่างผู้ประกอบการยางพารา 3 ราย และบริษัทสมาชิก TFEX 5 ราย เพื่อสร้างความมั่นใจในการรับมอบส่งมอบสินค้าแก่ผู้ลงทุน
เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ลงทุนบางส่วนยังไม่คุ้นเคยและมีความกังวลเกี่ยวกับภาระการรับมอบหรือส่งมอบสินค้า หลังจากที่มีการยุบตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) เข้ากับ TFEX ซึ่งการที่ผู้ประกอบการยางพารา 3 ราย และบริษัทสมาชิก ให้ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการรับมอบ-ส่งมอบยางพารา และจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสนับสนุนให้การซื้อขายยางพาราล่วงหน้าเติบโตมากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันที่มีการซื้อขายกันอยู่ประมาณ 500 สัญญา
นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กยท. ร่วมกับผู้ประกอบการ จัดตั้งกองทุนเพื่อเข้ามาซื้อขายยางพาราทั้งในตลาดส่งมอบทันที (Spot) และตลาดล่วงหน้า นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับมาเลเชีย และอินโดนีเซีย ในการจัดตั้งตลาดยางพาราระดับภูมิภาค (Regional Rubber Market : RRM) ขึ้นในแต่ละประเทศ โดย กยท. อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาการซื้อขายยางพาราระดับภูมิภาคเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งน่าจะช่วยผลักดันราคายางพาราของไทยให้เป็นราคาอ้างอิงได้ในระดับสากล และจะสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ซื้อและผู้ขายในประเทศไทย โดยอ้างอิงราคายางพาราจาก TFEX
ส่วนสถานการณ์ราคายางพาราในขณะนี้ปรับตัวดีขึ้น อยู่ประมาณ 48-49 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูปิดกรีด ปริมาณออกสู่ตลาดน้อยลง ประกอบกับมีมาตรการลดการส่งออกยางที่ทำร่วมกับ 3 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ในช่วง 3 เดือน คือ มกราคม-มีนาคม 2561 ช่วยทำให้ราคายางพาราปรับตัวดีขึ้น
ส่วนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีแนวคิดหยุดกรีดยาง 3 ล้านไร่ เพื่อลดปริมาณยางพาราในระบบนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้
ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนการซื้อขายและส่งมอบสินค้ายางพาราล่วงหน้า จัดทำขึ้นระหว่างผู้ประกอบการ 3 ราย ประกอบด้วย บมจ. ไทยฮั้วยางพาราไทย, บ. วงศ์บัณฑิต จำกัด, บมจ. ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี และบริษัทสมาชิก 5 ราย ได้แก่ บ. คลาสสิก ออสสิริส ฟิวเจอร์ส จำกัด, บล. เคที ซีมิโก้ จำกัด, บล. ทรีนีตี้ จำกัด, บ. เอ็มทีเอส โกลด์ ฟิวเจอร์ จำกัด และ บมจ. หลักทรัพย์ ไอร่า และคาดว่าในอนาคตจะมีผู้ประกอบการยางพารา และบริษัทสมาชิก เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น