xs
xsm
sm
md
lg

การโค่นยางเพื่อลดปริมาณผลผลิต “นโยบายที่หลงทาง” ของรัฐบาล / สุนทร รักษ์รงค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
สุนทร  รักษ์รงค์
นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย
 
 
 
ราคายางที่พุ่งสูงสุดในปี 2554 ก่อให้เกิด “กระแสตื่นยาง” จนมีการขยายพื้นที่การปลูกยางไปทั่วประเทศ รวมทั้งในประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV ยางโอเวอร์ซัพพลาย จึงเป็นผู้ร้ายลำดับต้นๆ ที่ถูกอ้างว่า เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ทั้งที่ในข้อเท็จจริงแล้วปริมาณผลผลิตยาง และปริมาณการใช้ยางธรรมชาติของโลก อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันคือ 12-13 ล้านตัน/ปี
 
นโยบายทวงคืนผืนป่าโดยการโค่นยางพารา มาตรการส่งเสริมให้มีการโค่นยางเพื่อปลูกพืชอื่นแทน นโยบายการลดพื้นที่ปลูกยางพาราด้วยแรงจูงใจต่างๆ ของรัฐบาลที่มีตั้งแต่ ปี 2557 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ก็ไม่สามารถตอบโจทย์เพื่อแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำได้เลย ราคายางไม่ได้สูงขึ้นตามสมมุติฐาน “การโค่นยางเพื่อลดปริมาณผลผลิต” ของสำนักวิชาการในห้องแอร์แต่อย่างใด
 
สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ ไม่เคยเห็นด้วยกับการโค่นยางทั้งหมด เพื่อปลูกพืชอื่นแทน เว้นแต่จะเป็นไปตามความต้องการและความสมัครใจของเกษตรกรเอง
 
สมาคมฯ ได้มีข้อเสนอเรื่องการทำสวนยางยั่งยืน โดยการเปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยว ให้เป็นป่ายางที่มีสมดุลนิเวศ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพด้วยการปลูกพืชร่วมยาง ปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจ การทำเกษตรผสมผสาน และก้าวหน้าไปถึงการทำเกษตรอินทรีย์ในสวนยาง
 
สมาคมฯ พยายามชี้นำรัฐบาลให้ลดจำนวนต้นยาง แทนการลดพื้นที่ปลูกยาง ด้วยชุดความคิดเรื่องระยะการปลูกยาง และการจัดการสวนยางแนวใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องปลูกยางเชิงเดี่ยวหนาแน่นแบบเก่า โดยการปลูกยางแบบเดิมจะปลูก 3x7 = 76 ต้น/ไร่ และ 2.5x8 = 80 ต้น/ไร่ ทางสมาคมฯ เคยเสนอให้มีงานวิจัยรับรองการปลูกยางแบบ 4x10 = 40 ต้น/ไร่ และ 4x9 = 44 ต้น/ไร่ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ
 
สมาคมฯ จึงต้องค้นคว้าและวิจัยเอง จากตัวอย่างสวนสมรมของปราชญ์ชาวบ้านหลายพื้นที่ในภาคใต้ที่ปลูกยาง 40-44 ต้น/ไร่ ซึ่งต้นยางโตกว่า และมีแนวโน้มว่าน้ำยางจะมากกว่า หรือเท่ากับการปลูก 76-80 ต้น/ไร่ จึงเป็นการลดต้นทุนการผลิต เช่น ปุ๋ย แรงงาน และอื่นๆ โดยปริยาย
 
การปลูกยางไม่หนาแน่น 40-44 ต้น/ไร่ ทำให้สามารถปลูกพืชอื่นเสริมในสวนยางได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องแสงแดดและการแย่งปุ๋ย เพราะเมื่อเกิดความสมดุลนิเวศ ปุ๋ยหมักจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติจากใบไม้อื่นในสวนยาง ต้นยางจะต้านทานโรค และเปอร์เซ็นต์น้ำยางดีกว่าการปลูกยางเชิงเดี่ยวแบบเดิม
 
อีกทั้งยังสร้างรายได้เสริม โดยไม่ต้องรอและหวังพึ่งรายได้จากยางเพียงอย่างเดียว อันเป็นแนวทางการทำ “สวนยางยั่งยืน” ตาม “ศาสตร์พระราชา” ในการพึ่งพาตนเอง และเป็นการประกาศอธิปไตยให้เกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อปลดแอกจากกับดักกลไกตลาดและราคาที่ไม่เป็นธรรม
 
หากรัฐบาลยังส่งเสริมให้โค่นยางเพื่อปลูกพืชอื่น แล้วจะเอาอะไรมาเป็นหลักประกันความเสี่ยงเรื่องราคาและรายได้จากพืชอื่น หรือจะเป็นการหนีเสือปะจระเข้ อย่างกรณีการโค่นยางเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน ที่ราคาปาล์มตกต่ำอย่างหนักในขณะนี้
 
ดังนั้น การส่งเสริมให้โค่นยางเพื่อปลูกพืชอื่น เท่ากับเป็นการผลักไสไล่ส่งให้เกษตรกรเลิกอาชีพการทำสวนยางที่มี พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) พ.ศ.2558 เป็นกลไกและเครื่องมือในการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยาง
 
ข้อเสนอของสมาคมฯ ที่มีต่อรัฐบาลกรณี “สวนยางยั่งยืน” ทั้งข้อเสนอเดิมและมีการพัฒนาข้อเสนอใหม่ พอสรุปได้ดังนี้
1. กรณีสวนยางที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี การลดจำนวนต้นยางเพื่อการทำ “สวนยางยั่งยืน” ให้เป็นไปโดยความสมัครใจ และมีรูปแบบการทำสวนยางตามภูมินิเวศที่เกษตรกรออกแบบเอง โดยรัฐบาลมีหน้าที่สนับสนุนและส่งเสริมอย่างเช่น โครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
2. กรณีสวนยางที่มีอายุเกิน 25 ปี และขอรับการส่งเสริมการปลูกแทนตามมาตรา 49(2) เป็นไปตามระเบียบของการยางแห่งประเทศไทยว่าด้วยการปลูกแทนเมนู 5 คือการปลูกยางแบบผสมผสาน รัฐบาลต้องสร้างแรงจูงใจเพื่อให้มีการทำ “สวนยางยั่งยืน” ด้วยการปลูกยาง 40-44 ต้น/ไร่ โดยให้รัฐบาลจ่ายเป็นเงินสนับสนุนการปลูกแทนเพิ่มไร่ละ 4,000 บาท (เดิม กยท.จ่าย 16,000 บาท/ไร่ หากรัฐบาลจ่าย 4,000/ไร่ รวมเป็นเงินปลูกแทน 20,000 บาท/ไร่)
3. กรณีสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ 4.6 ล้านไร่ เกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ 300,000 ครัวเรือน หากเกษตรกรดังกล่าวเปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยวเป็นการทำ “สวนยางยั่งยืน” ให้เกษตรกรได้รับสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมาย ภายใต้กรอบสิทธิชุมชน
4. ให้รัฐบาลดำเนินการให้มีการค้าไม้ยางพาราที่เป็นธรรมและถูกกฎหมาย (ให้สิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมาย กรณีสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์) เพื่อลดการเอาเปรียบและการกดราคาไม้ยางพาราจากพ่อค้า การคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งป้องกันมาตรการการกีดกันทางการค้า ทั้งน้ำยางและไม้ยางจากต่างประเทศในอนาคต
5. ให้รัฐบาลตั้งคณะทำงานจัดทำแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อให้ยุทธศาสตร์ “สวนยางยั่งยืน” นำไปสู่การปฏิบัติ และมีแผนงานที่เป็นรูปธรรม เช่น การตลาดและการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตผลจากสวนยางยั่งยืน รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง แบบสมัครใจจ่ายสมทบลักษณะสังคมสวัสดิการ เพื่อให้คุ้มครองดูแลเกษตรกรชาวสวนยางที่ด้อยโอกาสมากที่สุด โดยเฉพาะคนกรีดยาง
 


กำลังโหลดความคิดเห็น