xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมัน อาหารแพง ดันเงินเฟ้อ มี.ค.เพิ่ม 0.79% โตต่อเนื่อง 9 เดือนติด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เงินเฟ้อเดือน มี.ค. เพิ่มขึ้น 0.79% สูงขึ้น 9 เดือนติดต่อกัน เหตุน้ำมัน อาหารราคาเพิ่ม เผยเฉพาะผักสดแพงขึ้นถึง 7.63% ส่วนยอดรวม 3 เดือนเพิ่ม 0.64% คาดเงินเฟ้อไตรมาส 2 ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ขึ้นค่าแรงมีผลกระทบน้อย ประเมินทั้งปี ยังยึดกรอบเดิม 0.7 - 1.7%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน มี.ค. 2561 เท่ากับ 101.12 สูงขึ้น 0.79% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. 2560 ซึ่งเป็นการสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 นับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2560 ที่เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.17% แต่เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา เงินเฟ้อลดลง 0.09% โดยเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากเดือน ก.พ. 2561 ที่เงินเฟ้อลดลง 0.23% ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 3 เดือนของปี 2561  (ม.ค.- มี.ค.) เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.64% 

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.79% เป็นผลจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 1.13% โดยสินค้าสำคัญราคาแพงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่ม 2.61% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 5.95% ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าหอพัก เพิ่ม 1.43% ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.19% โดยสินค้าสำคัญราคาแพงขึ้น เช่น หมวดข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เพิ่ม 0.63% โดยเฉพาะราคาข้าวสารเจ้าที่ราคาเป็นบวกครั้งแรกรอบ 30 เดือน ตามการปรับตัวของราคาข้าวในประเทศ ผักสด เพิ่ม 7.63% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 1.20% อาหารบริโภคนอกบ้าน เพิ่ม 0.92% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.23% เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อแยกรายการสินค้า 422 รายการที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ พบว่า มีสินค้าราคาสูงขึ้น 133 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 29.70% ของน้ำหนักรวม เช่น ข้าวสารเจ้า เพิ่ม 1.57% มะนาว เพิ่ม 40.63% นมสด เพิ่ม 0.29% นมผง เพิ่ม 0.30% กะทิสำเร็จรูป เพิ่ม 2.23% ค่าเช่าบ้าน เพิ่ม 0.05% ก๊าซหุงต้ม เพิ่ม 0.29% น้ำยาปรับผ้านุ่ม เพิ่ม 1.50% น้ำยาล้างห้องน้ำ เพิ่ม 2.04% เบียร์ เพิ่ม 0.03% สุรา เพิ่ม 0.02% เป็นต้น สินค้าที่ราคาลดลง 111 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 19.10% ของน้ำหนักรวม และสินค้าราคาไม่เปลี่ยนแปลง 178 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 51.20% ของน้ำหนักรวม

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำวันละ 5 - 22 บาท ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 สนค. ประเมินแล้ว มีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อน้อยมาก โดยคาดว่าเงินเฟ้อไตรมาส 2 จะขยายตัว 1.06% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ในกรอบที่ประเมินไว้ คือ ขยายตัว 0.7 - 1.7% แต่ค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อทั้งปี 2561 น่าจะขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 1.14%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (หักรายการอาหารสดและน้ำมัน) เดือนมี.ค.2561 เท่ากับ 101.75 สูงขึ้น0.63% เมื่อเทียบกับ มี.ค. 2560 และสูงขึ้น 0.04% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. 2561 ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐาน 3 เดือน สูงขึ้น 0.61%


กำลังโหลดความคิดเห็น