“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อ ก.พ.เพิ่ม 0.42% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ตามความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น คาดไตรมาส 2 ยังคงเพิ่มต่อเนื่อง เหตุจะมีการใช้ช่วงสงกรานต์ และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนเป้าทั้งปี คาดโต 0.7-1.7%
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือน ก.พ. 2561 เท่ากับ 101.21 ลดลง 0.23% เมื่อเทียบกับเดือนม.ค. 2561 และเพิ่มขึ้น 0.42% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. 2560 เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 นับจากเดือน ก.ค. 2560 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 2 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ก.พ.) สูงขึ้น 0.56% เป็นการสะท้อนว่าเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลางที่รัฐบาลกำหนดไว้ 2.5% บวกหรือลบ 1.5% มากขึ้น
“เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากความต้องการการบริโภคที่เพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เป็นผลจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่ม ถือว่าสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และเป็นสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ส่วนเศรษฐกิจในระดับฐานราก รัฐต้องคงมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ไว้ โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้ดีขึ้นต่อไป” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
สำหรับไตรมาส 2 คาดว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสแรก เพราะมีช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ประชาชนจะจับจ่ายใช้สอย และเดินทางท่องเที่ยว ประกอบกับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อสูงขึ้น แต่ สนค.ยังคงคาดการณ์เป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปี 2561 อยู่ที่ 0.7-1.7% หรือมีค่ากลาง 1.2% ภายใต้สมมติฐานการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปี 2561 อยู่ที่ 3.6-4.6% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 55-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าเงินบาท 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ตัดหมวดอาหารสด และพลังงานออกจากการคำนวณ เดือน ก.พ. 2561 เท่ากับ 101.71 เพิ่มขึ้น 0.07% จากเดือน ม.ค. 2561 และเพิ่มขึ้น 0.63% จากเดือน ก.พ. 2560 ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยเดือน ม.ค.-ก.พ. 2561 เพิ่มขึ้น 0.61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน