กรมสรรพสามิต จับมือห้างค้าปลีกรายใหญ่ ส่งราคาขายปลีกแนะนำคำนวณภาษี ย้ำส่งราคาต่ำกว่าราคากลางไม่เกินร้อยละ 5 หากต่ำเกินจริงเรียกเก็บภาษีเพิ่ม
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมสรรพสามิต ลงนามความร่วมมือระหว่างกรมสรรพสามิตกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทยและผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าสรรพสามิต เพื่อขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการแจ้งข้อมูลราคาขายปลีกของสินค้าสรรพสามิตส่งให้แก่กรมสรรพสามิตเป็นรายไตรมาส เพื่อรวบรวมข้อมูลราคาขายปลีกหาราคาฐานนิยมใช้ประเมินคำนวณจัดเก็บภาษี หลังจากเปลี่ยนรูปแบบจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากราคาหน้าโรงงาน หรือราคานำเข้า CIF เป็นราคาปลีกแนะนำ กฎหมายเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 16 กันยายน 2560 จึงต้องการราคาขายปลีกคำนวณฐานภาษี ทั้งจากห้างสรรพสินค้า, ซูเปอร์สโตร์, ไฮเปอร์มาร์ต, ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่, ร้านโช่ห่วย, สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าสรรพสามิต 18 ราย เช่น ซีพี ออลล์, เซ็นทรัล, แฟมิลี่มาร์ท, เดอะมอลล์กรุ๊ป, บิ๊กซี ร่วมกันส่งราคาสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตมาให้กรมสรรพสามิตใช้ประเมินเก็บภาษี เช่น เครื่องดื่ม, น้ำผลไม้, สุรา และยาสูบ
เมื่อผู้ประกอบการส่งราคาสินค้าจะประเมินฐานราคากลางเป็นฐานนิยมที่เอกชนส่วนใหญ่ขายปลีก กฎหมายกำหนดให้ส่งราคาปลีกต่ำกว่าราคากลางฐานนิยมได้ไม่เกินร้อยละ 5 สำหรับสินค้าทุกประเภท เช่น สินค้าประเภทเดียวกัน เอกชนส่วนแจ้งราคาเป็นฐานนิยม 95-100 บาทต่อหน่วย หากบางรายแจ้งราคา 94 บาทต่อหน่วย ถือว่าต่ำกว่าความจริง เมื่อแจ้งต่ำกว่าราคากลางต้องเชิญมาชี้แจง และเรียกเก็บภาษีเพิ่ม และการแจ้งราคาจะไม่นับรวมถึงช่วงการจัดทำโปรโมชั่น ลด แลก แจกแถม ในช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ เพราะเป็นการทำตลาดของเอกชน แต่จะใช้ราคาจำหน่ายช่วงปกติ ยืนยันว่าตั้งแต่ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตจากฐานหน้าโรงงานเปลี่ยนมาเป็นราคาขายปลีกจะไม่ให้กระทบต่อภาระผู้บริโภค รายได้เข้าคลังเท่าเดิม ที่ผ่านมา จึงไม่เห็นการปรับเพิ่มราคาสินค้าแบบโดดเด่น จนสร้างภาระให้กับผู้บริโภค
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มว่า สำหรับแนวทางการขยายฐานภาษีอยู่ระหว่างการศึกษาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดซ์อ็อกไซด์ C02 จึงต้องหารือกับกระทรวงพลังงานได้ให้ข้อสรุป เมื่อลดการนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงจะเปลี่ยนมาเป็นภาษีด้านสิ่งแวดล้อมแทนในสัดส่วนเท่ากัน เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภค สำหรับมอเตอร์ไซค์ยังต้องศึกษาเพิ่มขณะนี้ยังไม่สรุปชัดเจนเหมือนกัน แต่เบื้องต้น ยอมรับว่ามอเตอร์ไซค์รับภาระทางภาษีไม่สูง เช่น หากราคาจักรยานยนต์คันละ 50,000 บาท เสียภาษีประมาณ 150-200 บาท ตามขนาดการปล่อยก๊าซ C02 เหมือนกับการจัดเก็บภาษีจากรถยนต์ ขณะนี้ยังศึกษา หากได้ข้อสรุปชัดเจน จะเสนอกระทรวงการคลังพิจารณา