xs
xsm
sm
md
lg

ฐานะการคลังแข็งแกร่ง เผย 5 เดือนแรก ปีงบ 61 รัฐนำส่งรายได้ 8.94 แสนล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คลัง” เผยฐานะการคลัง 5 เดือนแรก ปีงบ 61 รัฐนำส่งรายได้ 8.94 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว จำนวน 37,796 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.4% ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว และการนำส่งรายได้การประมูลคลื่น 4G ขณะที่การเบิกจ่ายต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560-กุมภาพันธ์ 2561) โดยระบุว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 894,012 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว จำนวน 37,796 ล้านบาท (คิดเป็น 4.4%) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว และการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz (ใบอนุญาต 4G)

การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 1,378,010 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว จำนวน 4,070 ล้านบาท (คิดเป็น 0.3%) ประกอบด้วยรายจ่ายปีปัจจุบัน จำนวน 1,271,697 ล้านบาท คิดเป็น 43.9% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย (2,900,000 ล้านบาท) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1.8% และรายจ่ายจากงบประมาณปีก่อน จำนวน 106,313 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 20.3%

รายจ่ายปีปัจจุบัน จำนวน 1,271,697 ล้านบาท ประกอบด้วยรายจ่ายประจำ จำนวน 1,130,010 ล้านบาท (คิดเป็น 49.6% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำหลังโอนเปลี่ยนแปลง จำนวน 2,279,398 ล้านบาท) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1.9% และรายจ่ายลงทุน จำนวน 141,687 ล้านบาท (คิดเป็น 22.8% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนหลังโอนเปลี่ยนแปลง จำนวน 620,602 ล้านบาท) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1.3%

“ฐานะการคลังของรัฐบาลในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 ยังคงอยู่ในระดับที่เข้มแข็งเพียงพอต่อการเบิกจ่าย ทั้งนี้ รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สูงขึ้น และสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนได้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพื่อสนับสนุนให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้” นางสาวกุลยา กล่าว

ขณะที่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 รัฐบาลขาดดุลเงินสด จำนวน 22,957 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ จำนวน 10,647 ล้านบาท และเป็นการขาดดุลเงินนอกงบประมาณ จำนวน 12,310 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีจำนวน 189,327 ล้านบาท

รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง จำนวน 155,341 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว จำนวน 16,039 ล้านบาท (คิดเป็น 11.5%) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตสูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว

รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 165,988 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว จำนวน 8,041 ล้านบาท (คิดเป็น 5.1%) โดยเป็นรายจ่ายปีปัจจุบัน จำนวน 147,102 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 3.0% ประกอบด้วยรายจ่ายประจำ จำนวน 119,046 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 4.6% และรายจ่ายลงทุน จำนวน 28,056 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 3.1% และการเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณปีก่อน จำนวน 18,886 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 24.4%

การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญในเดือนนี้ ได้แก่ เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 8,107 ล้านบาท งบลงทุนของกรมทางหลวง จำนวน 7,918 ล้านบาท งบลงทุนของกรมทางหลวงชนบท จำนวน 5,389 ล้านบาท และเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวน 2,938 ล้านบาท

ดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดจากรายได้นำส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลข้างต้น ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขาดดุลจำนวน 10,647 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล จำนวน 12,310 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการถอนเงินฝากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 3,034 ล้านบาท การไถ่ถอนตั๋วเงินคลังสุทธิ จำนวน 2,649 ล้านบาท และการถอนเงินฝากคลังของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยสุทธิ จำนวน 1,840 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 23,549 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังกู้ชดเชยการขาดดุล) เกินดุล จำนวน 592 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 189,327 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น