ม็อบโรงงานยาสูบบุกกรมสรรพสามิตทวงสัญญาช่วยเหลือ หลังกฎหมายสรรพสามิตใหม่เปิดทางบุหรี่นอกขายถูก ทำรายได้ลดลง ด้านกรมสรรพสามิตเตรียมชี้แจง 4 เม.ย. นี้
นายคณุตม์ ฤทธิสอน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสหากิจโรงงานยาสูบ ได้นำพนักงานกว่า 200 คน เดินทางมายังกรมสรรพสามิตทวงสัญญาแนวทางความช่วยเหลือจากรัฐบาล หลังจากรัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบ แบ่งเป็นยาสูบราคาต่ำกว่า 60 บาทต่อซอง เสียภาษีร้อยละ 20 หากราคาเกิน 60 บาทต่อซอง เสียภาษีร้อยละ 40 แนวทางดังกล่าว ทำให้บุหรี่ต่างชาติบางยี่ห้อปรับกลยุทธ์ดัมป์ราคาจากเดิมขาย 70-80 บาท ปรับราคาลดลงมาเพื่อขายไม่เกิน 60 บาท จนส่งผลกระทบต่อโรงงานยาสูบ เพราะเป็นหน่วยงานของรัฐปรับราคาลงมาไม่ได้เหมือนกับบุหรี่ต่างชาติ จากเคยนำรายได้ส่งเข้ารัฐ 56,000 ล้านบาทในปี 2560 จึงเรียกร้องแนวทางช่วยเหลือจากภาครัฐ หลังจากเคยมาชุมนุมเรียกร้องมาแล้วรอบแรกตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560
นายคณุตม์ กล่าวว่า หลังจากส่งหนังสือร้องเรียนไปหลายหน่วยงานรัฐ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) สำนักนายกรัฐมนตรี หลายหน่วยงานได้ส่งหนังสือมาให้กรมสรรพสามิตหาแนวทางช่วยเหลือ อีกทั้งโรงงานยาสูบเตรียมกู้เงินเพื่อลงทุนในเครื่องจักรเพิ่ม จึงสร้างภาระกับโรงงานยาสูบ ยอมรับว่าพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตบุหรี่ที่บังคับใช้ในประเทศ ตามหลักการขององค์การอนามัยโลก ( WHO) และอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (FCTC) จะทำให้ราคาขายปลีกบุหรี่เพิ่มขึ้นเมื่อมีการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตทุกครั้ง มีมาตรการป้องกันหรือกำหนดราคาขั้นต่ำเพื่อไม่ให้มีการลดราคาหรือสร้างบุหรี่ตราใหม่ในราคาต่ำ รัฐต้องมีรายได้จากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น และที่สำคัญที่สุด จำนวนผู้บริโภคยาสูบในประเทศต้องลดลง แต่กลับมีปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงแบบ “สลับขั้ว” บุหรี่ตราหลักของไทยไม่สามารถแข่งขันกับบุหรี่ต่างชาติเพราะดัมป์ราคา
นางสาวสุจิตรา เลาหวัฒนภิญโญ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี กรมสรรพสามิต ลงนามชี้แจงกับพนักงานยาสูบ โดยเฉพาะ ครม. เห็นชอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทุกจังหวัดจัดเก็บภาษีท้องถิ่นอย่างเท่าเทียมกัน 1.86 บาทต่อซอง การปรับแผนผลิตยาเส้นเพื่อจำหน่ายออกสู่ตลาดเพิ่ม การผลิตแสตมป์สุรา หรือการหารายได้อื่นเพิ่ม ทำให้ขณะนี้ส่วนแบ่งทางการตลาดของโรงงานยาสูบเพิ่มจากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 67 ในปัจจุบัน และนัดเดินทางไปชี้แจงแนวทางช่วยเหลือพนักงานวันที่ 4 เมษายนนี้ เพื่อชี้แจงแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติม