ผอ.ศจย. ย้ำ คุม “บุหรี่ไฟฟ้า” แทนห้ามนำเข้า ยังเป็นแค่ข้อเสนอ กมธ.พาณิชย์ฯ ชี้ แม้ปลดล็อกจริงยังมีกฎหมายอื่นควบคุม ขายเสรีไม่ได้ ทั้ง สคบ. ห้ามขายและห้ามบริการ สรรพสามิตห้ามเสียภาษี จัดเป็นของเถื่อน สธ. ห้ามสูบที่สาธารณะ ระบุ หากต้องควบคุมจริง เสนอ สธ. อาจควบคุมแค่ตัว “นิโคติน” เท่านั้น
ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฎ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทบทวนเรื่องการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า โดยเสนอให้ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าแทน เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้า ว่า เรื่องดังกล่าวยังเป็นเพียงข้อเสนอของ กมธ.พาณิชย์ฯ ซึ่งอาจจะมีการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการพิจารณายกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งเรื่องนี้คงต้องจับตาว่า ก.พาณิชย์จะดำเนินการเช่นไร
ทพญ.ศิริวรรณ กล่าวว่า หาก ก.พาณิชย์ ยกเลิกประกาศดังกล่าวจริง ก็ไม่ได้หมายความว่า บุหรี่ไฟฟ้าจะสามารถนำเข้าและส่งเสริมการขายได้อย่างเสรี เนื่องจากทางด้านสาธารณสุขยังพิจารณาว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ยังไม่ควรมีการซื้อขายและหรือส่งเสริมการบริโภค นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายตัวอื่นในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ คือ 1. คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องห้ามขาย หรือห้ามให้บริการสินค้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งตนไม่กังวลว่าสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะยกเลิกคำสั่งดังกล่าว เนื่องจาก สคบ. ยังเห็นด้วยกับทางด้านสาธารณสุขว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น แม้จะยกเลิกห้ามนำเข้าก็ยังไม่สามารถนำมาขายหรือให้บริการในร้านค้าได้
ทพญ.ศิริวรรณ กล่าวว่า 2. พ.ร.บ. สรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งควบคุมสารประกอบที่เป็นนิโคตินและอุปกรณ์ข้างเคียงต้องมาขออนุญาต โดยในการควบคุมยาสูบยังตกลงกันไว้อยู่ว่า พิกัดอัตราภาษีของบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่ให้นำเข้าอยู่ ดังนั้น บุหรี่ไฟฟ้าที่ต้องมาเสียภาษี แต่เรายังไม่ให้เสียภาษี สรุปคือเป็นของเถื่อน และ 3. ผู้ที่ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า แม้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังไม่ได้ออกกฎหมายลูกในการควบคุมอุปกรณ์ที่สูบคล้ายบุหรี่ ทำให้ยังไม่สามารถเอาผิดได้ แต่ก็ไม่สามารถห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะได้อยู่ดี เนื่องจากมี พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ในการควบคุม
“เรื่องนี้ยังอีกนาน แม้จะเกิดสุญญากาศจากการที่กระทรวงพาณิชย์ยกเลิกการห้าม แต่ของเหล่านี้ก็ยังผิดกฎหมาย เพราะมีกฎหมายอื่นๆ อีกในการควบคุม หรือ ก.พาณิชย์ อาจส่งหนังสือมายัง สธ. หรือส่งให้ ครม. สั่ง สธ. ในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าก็จะยิ่งง่ายขึ้น โดย สธ. ต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณา โดย อย. และสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ ต้องมาร่วมพิจารณาว่า นิโคตินซึ่งจัดเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งจะจัดอยู่ตรงไหน ควบคุมแบบไหน เช่น จัดเป็นสารอันตราย หรือขึ้นทะเบียนเป็นยา นอกจากนี้ ไม่ให้นำเข้าและจำหน่าย เป็นต้น ส่วนอนาคตคนที่อยากใช้เพื่อเลิกบุหรี่ คนที่อยากนำเข้าก็ต้องมาขึ้นทะเบียนบุหรี่ไฟฟ้าเป็นยากับ อย.” ทพญ.ศิริวรรณ กล่าวและว่า ส่วนข้อกังวลว่าอาจจะทำให้คนสูบบุหรี่ธรรมดามากขึ้นนั้น หากเราปล่อยให้คนรู้สึกว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องปกติก็จะยิ่งเข้าถึงง่าย ไม่รังเกียจ ซึ่งเด็กๆ สมัยรู้ว่าบุหรี่ธรรมดาก่อให้เกิดมะเร็งและเหม็น แต่บุหรี่ไฟฟ้ากลิ่นหอม งานวิจัยยังมีไม่มาก แต่บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินที่เป็นสารเสพติดแน่นอน สูบ 1 - 2 ครั้ง ก็เริ่มติด และเมื่อได้ได้สูบก็ต้องยืมเพื่อนหรือไปหาซื้อบุหรี่ธรรมดามาสูบ ย่อมเพิ่มความเสี่ยงในการสูบบุหรี่ธรรมดาได้
นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส ผอ.สำนักงานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า การที่มีประกาศกระทรวงพาณิชย์ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า และคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคห้ามขายห้ามบริการ เห็นว่า มีความเหมาะสมและเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ดังนั้น กลุ่มที่เห็นว่าแค่การควบคุมก็เพียงพอแล้วนั้นอยากให้มองว่า ขนาดมีกฎหมายห้ามนำเข้ายังสามารถเล็ดลอดเข้ามาได้เลย จากการที่บังคับใช้กฎหมายไม่เข้มแข็ง แล้วแค่การควบคุมจะเป็นอย่างไร และอยากให้มองว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินที่เป็นสารเสพติดก่อให้เกิดพิษภัยแก่สุขภาพด้วย