“หมอประกิต” ชี้ หญิงไทยรับควันบุหรี่มือสองในบ้านกว่า 8 ล้านคน ที่ทำงานกว่า 1.3 ล้านคน พบภาคใต้วิกฤตสุด ห่วงวัยรุ่นหญิงสูบเพิ่มขึ้น ด้านประธานราชวิทยาลัยสูติฯ ชี้ “บุหรี่” ทำลายสุขภาพผู้หญิงตลอดชีวิต ทำปวดประจำเดือนมากขึ้น มีลูกยาก อาการวัยทองมากขึ้น ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยลง ก่อมะเร็งปากมดลูกสูง ทั้งที่ป้องกันได้ หน้าแก่ไว อายุขัยสั้นลง หมอรามาฯ ย้ำควันบุหรี่มือสอง มือสามอันตรายไม่ต่างจากสูบเอง
วันนี้ (6 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวในงานเสวนา “พิษของบุหรี่ต่อสตรี ยิ่งมีมากกว่าบุรุษ” ว่า แม้อัตราการสูบบุหรี่ของผู้หญิงไทยในปัจจุบันจะไม่มากเมื่อเทียบกับผู้ชาย โดยอยู่ที่ 2.2% ส่วนผู้ชายอยู่ที่ 40.5% แต่จากการสำรวจความชุกการสูบบุหรี่ของนักเรียนไทยอายุ 13 - 15 ปี พบว่า วัยรุ่นหญิงสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจาก 2% ในปี 2551 เป็น 5% ในปี 2558 ขณะที่นักเรียนชายยังคงที่อยู่ประมาณ 21% ถือเป็นสัญญาณอันตราย โดยประเด็นที่น่าห่วง คือ เยาวชนหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งมีแนวโน้มเยาวชนไทยสูบบุหรี่มากขึ้น เพราะมีหลักฐานการวิจัยจากต่างประเทศ ว่า เยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อมากลายไปสูบบุหรี่ธรรมดา โดยข้อมูลผลการสรวจการบริโภคยาสูบเยาวชนระดับโลก พบว่า เยาวชนอายุ 13 - 15 ปี ของประเทศไทยปี 2558 มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าร้อยละ 3.3 เป็นเยาวชนชายร้อยละ 4.7 และเยาวชนหญิง ร้อยละ 1.9 โดยมีความเข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัย
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า นอกจากนี้ จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2557 ระบุว่า หญิงไทยจำนวนมากมีความรู้ไม่มากพอเรื่องอันตรายของการสูบบุหรี่ต่อคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ โดยจากคำถามถึงการรับรู้ว่าบุหรี่เป็นสาเหตุของมารดาคลอดทารกก่อนกำหนด 28 - 34 สัปดาห์ พบว่า มีคุณแม่ที่ไม่สูบบุหรี่เพียง 54.3% รู้ว่ามีอันตราย ส่วนคุณแม่ที่สูบบุหรี่มีเพียง 39.5% เท่านั้นที่รู้ว่าการสูบบุหรี่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์ ขณะที่ผลการสำรวจการได้รับควันบุหรี่มือสองในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ของประเทศไทย พบว่า การรับควันบุหรี่มือสองภายในบ้านนั้น ผู้หญิงอยู่ที่ประมาณ 8.46 ล้านคน ผู้ชายราว 3.11 ล้านคน การรับควันบุหรี่มือสองในที่ทำงาน ผู้หญิงประมาณ 1.34 ล้านคน ผู้ชาย 1.24 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบรายภาคพบว่า การรับควันบุหรี่มือสองในบ้าน ภาคใต้สูงสุด 2.2 ล้านคน อัตราอยู่ที่ 43.5% ภาคอีสาน 3.9 ล้านคน อัตรา 29% ภาคกลาง 2.7 ล้านคน อัตรา 27.6% ภาคเหนือ 2 ล้านคน อัตรา 25.9% และ กทม. 6 แสนคน อัตรา 13.2%
ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า บุหรี่มีผลสุขภาพของสตรีตลอดชีวิต คือ 1.ระบบประจำเดือนและอนามัยเจริญพันธุ์ พบว่า จะทำให้ปวดประจำเดือนมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ มีบุตรยากทั้งระดับปฐมภูมิ คือ ไม่เคยมีบุตรมาก่อน และตติยภูมิคือที่เคยมีบุตรมาแล้วก็มีได้ยากขึ้นเช่นกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะประเทศไทยอัตราการเกิดน้อยลงคาดว่าปี 2560 น่าจะต่ำกว่า 7 แสนราย ซึ่งบุหรี่จะยิ่งซ้ำเติมเรื่องมีบุตรยากมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ยังทำให้อาการวัยทองมากขึ้นและรุนแรงขึ้น คือประจำเดือนหมดเร็วขึ้น บางส่วนมีอาการร้อนวูบวาบ ใจสั่น หงุดหงิด นอนไม่หลับ โดยเป็นมากขึ้นและรุนแรงขึ้น ประจำเดือนหมดเร็วขึ้น
ศ.นพ.ภิเศก กล่าวว่า 2. การตั้งครรภ์ การคลอด และทารก โดยน้ำหนักทารกแรกเกิดน้อยลง 200-250 กรัม น้ำหนักน้อยเมื่อเทียบกับอายุครรภ์ เพิ่มความเสี่ยงการตายคลอด การตายของทารกหลังคลอด และการตายของทารกอย่างกะทันหัน รวมถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยลง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากห่วงการสูบบุหรี่หรือไม่ ทำให้ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 3. ระบบหัวใจและหลอดเลือด พบว่า เสี่ยงหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดสมองอุดตัน และเส้นเลือดสมองแตก เช่นเดียวกับผู้ชาย 4. โรคปอด ทั้งหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง 5. มะเร็ง คือ มะเร็งปอดที่มีผลโดยตรงอยู่แล้ว และมะเร็งอย่างอื่นที่จะพบมากขึ้นจากการสูบ เช่น มะเร็งปาก มะเร็งลำคอ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งไต และมะเร็งปากมดลูก ทั้งที่เป็นมะเร็งที่คัดกรองได้เร็วกว่ามะเร็งอื่น ควบคุมได้ง่ายกว่า โดยคนสูบบุหรี่และติดเชื้อเอชพีวี จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่าคนไม่สูบ ดังนั้น การสูบบุหรี่น้อยลงจะช่วยในการควบคุมมะเร็งปากมดลูก นอกจากการใช้วัคซีนเอชพีวีด้วย
ศ.นพ.ภิเศก กล่าวว่า 6. ความหนาแน่นของกระดูกน้อยลง ความเสี่ยงสะโพกหักมากขึ้น และ 7. สุขภาพอย่างอื่น เช่น พบภาวะซึมเศร้ามาขึ้น การอักเสบของปริทันต์ ถุงน้ำดีอักเสบมากขึ้น เป็นโรคกระเพาะมากขึ้น ต้อกระจก หน้าตาเหี่ยวย่นจาการทำลายคอลลาเจน และ อายุขัยสั้นลง ซึ่งจากการที่ตนเคยทำงานกับองค์การอนามัยโลก พบว่า ประเทศเดียวที่อายุขัยเฉลี่ยของผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชาย คือประเทศเนปาล ซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้หญิงสูบบุหรี่สูงมาก จึงน่าจะมีควมสัมพันธ์ทำให้อายุขัยแตกต่างระหว่างหญิงชายน้อยลง สำหรับการดำเนินงานของราชวิทยาลัยฯ ในเรื่องนี้ คือ สูตินรีแพทย์ต้องมีการถาม หญิงตั้งครรภ์ว่ามีการสูบโดยตรงหรือรับควันบุหรี่โดยอ้อมหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันสมุดฝากครรภ์ของกรมอนามัยก็จะมีคำถามเรื่องการสูบบุหรี่หรือรับควันบุหรี่มือสองหรือไม่ด้วย ซึ่งหากพบก็ให้คำแนะนำ และการป้องกัน เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์มีความรอบรู้ทางสุขภาพมากขึ้นว่าบุหรี่มีผลกระทบต่อสุขภาพมากทั้งตนเองและทารกในครรภ์ และต้องประเมินว่าหญิงตั้งครรภ์มีความต้องการลดละเลิกสูบมากน้อยเพียงใด เพื่อจะช่วยให้ได้รับการดูแลรักษาลดเลิกบุหรี่
ด้าน พญ.นภารัตน์ อมรพุฒิสถาพร อาจารย์หน่วยโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตระบบการหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จากการทำคลินิกอดบุหรี่ รพ.รามาธิบดี พบว่า หญิงตั้งครรภ์มาฝากท้อง เมื่อซักประวัติพบว่าได้รับควันบุหรี่จากสามี แม้จะได้รับข้อมูลว่าบุหรี่นั้นไม่ดีต่อสุขภาทั้งตนเองและทารกในครรภ์ แต่ก็ยังคงได้รับควันบุหรี่จากสามีอยู่ดี ซึ่งก็พยายามให้ทางสามีมาอบรมเพื่อลดละเลิกบุหรี่ด้วยกัน แต่ก็สำเร็จยาก ทั้งนี้ อันตรายจากควันบุหรี่มือสองนั้นไม่ต่างจากการสูบบุหรี่โดยตรง เพราะมีสารเคมีกว่า 7,000 ชนิด มีสารก่อมะเร็งมากกว่า 70 ชนิด โดยย้ำว่าไม่มีระดับต่ำสุดของควันบุรี่มือสองที่ไม่เป็นพิษ แม้แต่การสูดควันบุหรี่มือสองเพียงชั่วเวลาสั้นๆ ก็สามารถก่อห้เกิดปัญหาสุขภาพได้
พญ.นภารัตน์ กล่าวว่า สำหรับผลเสียการรับควันบุหรี่มือสองในเด็ก พบว่า เด็กติดเชื้อหูชั้นกลางบ่อยขึ้น เกิดอาการหืดเฉียบพลันบ่อยและรุนแรง มีการไอ จาม หอบเหนื่อย ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างมากขึ้น รวมถึงเสียชีวิตฉับพลันในทารกมากขึ้น ส่วนผู้ใหญ่ก็ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งปอดเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-30 เนื่องจากเมือปอดถูกทำลายจากบุหรี่จะมีการซ่อมแซมตัวใหม่ แต่เป็นการซ่อมแซมผิดปกติให้ก่อเซลล์มะเร็ง ยิ่งสูดดมนานมากก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น โรคเส้นเลือดสมองจะตีบแตกตันมากขึ้นได้ เป็นต้น และที่น่าห่วงอีกอย่าง คือ “บุหรี่มือสาม” ที่ตกค้างตามพื้นผิวหรือของใช้ในบ้าน ซึ่งสามารถคงอยู่ได้นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน โดยสาเหตุเหล่านี้จะทำปฏิกิริยากับไนตรัสออกไซด์หรือโอโซนก่อให้เกิดสารพิษหรือสารก่อมะเร็งขึ้นได้ โดยสามารถรับได้จากการสูดดม หารสัมผัส หรือแม้แต่การดื่มกิน โดยการทำความสะอาดทั่วไปหรือขัดถูไม่สามารถดำจัดสารพิษตกค้างเหล่านี้ได้ทั้งหมด กลุ่มเสี่ยงมีทั้งเด็ก ผู้หญิง และสัตว์เลี้ยง โดยเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข และแมว ถึง 2 เท่า ทั้งนี้ การปกป้องตัวเอง คือ การเลิกบุหรี่ ไม่อนุญาตให้สูบบุหรี่ในบ้านหรือใกล้บ้าน ไม่สูบในรถแม้จะเปิดหน้าต่างรถก็ตาม เลือกร้านที่ไม่อนุญาตให้สูบบุหรี่เลยในการไปรับประทานอาหารหรือสังสรรค์ สอนลูกหลานหลีกเลี่ยงห่างไกล กวดขันสถานรับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ และเป็นตัวอย่างที่ดีไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบต่อเด็กและเยาวชน