xs
xsm
sm
md
lg

“TEEN'S MIND” แอปฯ ช่วยเลี้ยงลูก “วัยรุ่น” อย่างเข้าใจ หมอแนะอย่าสอน ต้องฝึกให้คิดเป็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดตัวแอปพลิเคชัน “TEEN'S MIND” ช่วยพ่อแม่เข้าใจ -
สื่อสารลูกวัยรุ่นมากขึ้น เพิ่มสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว ตั้งกระทู้ปรึกษาปัญหาเลี้ยงลูกวัยรุ่น ได้รับคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญ กุมารแพทย์ชี้พ่อแม่ถูกฝังโปรแกรมต้องสอนลูก ย้ำเลี้ยงวัยรุ่นอย่าสอน ต้องฝึกให้คิดเองเป็น ช่วยเพิ่มสัมพันธภาพครอบครัว ลดโอกาสก้าวพลาดของวัยรุ่น


วันนี้ (27 ก.พ.) ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวเปิดตัว “แอปพลิเคชัน TEEN'S MIND เครื่องมือสร้างความเข้าใจลูกวัยรุ่น” ว่า ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย โดยปี 2559 ไทยมีอัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นอายุ 15 - 19 ปี ถึง 42.5 คนต่อวัยรุ่นหญิง 1,000 คน ถือว่าสูงเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาคนี้ และเมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียงอย่างสิงคโปร์ก็สูงกว่าถึง 13 เท่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ การขาดความรู้เรื่องเพศวิถีศึกษา ขาดทักษะและความเท่าทันต่อการดูแลอารมณ์ของตนเอง และช่องว่างของการสื่อสารภายในครอบครัว ซึ่งสัมพันธภาพภายในครอบครัวนั้นจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับบุตรหลานในการป้องกันการก้าวพลาดของวัยรุ่น ทั้งเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การติดยาเสพติด การติดเกม การติดการพนันต่างๆ เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่จะช่วยเพิ่มสัมพันธภาพที่ดีให้กับครอบครัวได้ คือ ต้องมีการสื่อสารกันและต้องสื่อสารกันอย่างเข้าใจ

พญ.อัมพร กล่าวว่า สธ. จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และ สสส. ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน TEEN'S MIND เครื่องมือสร้างความเข้าใจลูกวัยรุ่นขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือในยุคดิจิทัลที่จะเป็นตัวช่วยของพ่อแม่ผู้ปกครองในการเข้าใจและสื่อสารพูดคุยกับบุตรหลานวัยรุ่นได้ดียิ่งขึ้น ช่วยให้เข้าใจในธรรมชาติของตัววัยรุ่น เรียนรู้ที่จะสื่อสารและเข้าใจในตัวเขา เพื่อเพิ่มสัมพันธภาพที่ดีภายในครอบครัว เป็นภูมิคุ้มกันที่จะป้องกันการก้าวพลาดของวัยรุ่น ถือเป็นคำตอบที่ดีงามที่จะช่วยให้พ่อแม่เข้าใจลูกวัยรุ่น และคาดหวังว่า แอปพลิเคชันนี้จะเป็นที่ยอมรับ เกิดการเข้าถึงและใช้งานอย่างกว้างขวางมากขึ้น

ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ รักษาการผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า จากการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ส่งผลให้อัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลดลง ซึ่งตั้งเป้าหมายในปี 2569 ให้มีอัตราการคลอดไม่เกิน 25 คนต่อวัยรุ่นหญิง 1,000 คน แต่ปัญหาจากการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นยังคงมี เช่น การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย การทอดทิ้งหรือการทำร้ายเด็กทารก โดยเด็กที่เกิดจากแม่วัยรุ่นมีโอกาสสูงที่จะพัฒนาการล่าช้า ส่งผลต่อคุณภาพประชากรประเทศ ทั้งนี้ การสื่อสารเชิงบวกของพ่อแม่ผู้ปกครอง มีงานวิจัยชัดเจนว่าสามารถช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ของลูกวัยรุ่นได้ จึงมีการพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนพ่อแม่ผู้ปกครองให้มีความรู้ความเข้าใจและทักษะที่จะรับฟังและสื่อสารกับลูกได้ทุกเรื่องรวมทั้งเรื่องเพศ ซึ่งควรพูดคุยตั้งแต่ช่วงเด็กจนเข้าสู่วัยรุ่น จะเป็นเกราะป้องกันทั้งการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และความรุนแรงทางเพศลง

ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แอปพลิเคชันนี้ขยายผลมาจากคู่มือช่วยพ่อแม่สื่อสารกับลูกช่วงอายุ 9 - 20 ปี ในโครงการวิจัยชุมชน “โครงการมหิดลโมเดล ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” ที่พบว่า ผู้ปกครองสื่อสารกับลูกได้ดีขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น และพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ลดลง จึงขยายผลคู่มือดังกล่าวออกมาในช่องทางดิจิทัลเป็นแอปพลิเคชัน “TEEN'S MIND” ให้ประชาชนเข้าถึงและใช้งานได้ด้วยตนเอง เป็นตัวช่วยสร้างความเข้าใจในตัวลูกหลานวัยรุ่น โดยให้ความรู้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง สำหรับแอปพลิเคชันจะมี 5 ฟังก์ชัน ได้แก่ 1. บ้านของเรา ให้ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นผ่านวิดีโอที่สนุกและเข้าใจง่าย แบ่งเป็น 6 ห้องย่อย คือ ห้องแต่งตัวเป็นเรื่องจิตใจ ห้องน้ำเป็นเรื่องโรคซึมเศร้า ห้องนอนเป็นเรื่องเพศสัมพันธ์และความรับผิดชอบ ห้องนั่งเล่น สื่อสารเพื่อความเข้าใจ ห้องอาหารเรื่องเหล้าบุหรี่ยาเสพติด และห้องทำงาน เรื่องการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์

2. ศูนย์เรียนรู้ เป็นบทความการดูแลวัยรุ่นและกิจกรรมที่น่าสนใจ 3. สไมล์เซ็นเตอร์ เป็นโอเปอเรเตอร์แบบปัญญาประดิษฐ์ที่จะช่วยค้นหาคำตอบจากคำถามที่ผู้ใช้อยากรู้ คลิกเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ 4. คลินิก เป็นการรวบรวมคลินิกวัยรุ่นและจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ที่ใกล้บ้าน โดยอาศัยการระบุจีพีเอส นอกจากนี้ ยังขึ้นเบอร์โทรศัพท์ของคลินิกด้วย และ 5. เพื่อนบ้าน เป็นเหมือนกระทู้ออนไลน์ให้เข้ามาตั้งคำถามในการเลี้ยงลูก แบ่งปันประสบการณ์ต่างๆ แบ่งเป็น 6 สถานที่ คือ ร้านตัดผม คือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่น กาแฟเรื่องการสื่อสาร ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ เรื่องการใช้สื่อสังคมและอิเล็กทรอนิกส์ ไนต์คลับเรื่องเหล้าบุหรี่ และยาเสพติด โรงหนัง เรื่องเพศสัมพันธ์ และค่าย การใช้ชีวิตและปัญหาทั่วไป สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการไอโอเอส และแอนดรอยด์

ด้าน พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวในงานเสวนา “เลี้ยงวัยรุ่นไม่วุ่น...ถ้าเข้าใ“” ว่า แอปพลิเคชันดังกล่าวถือว่าเป็นตัวช่วยพ่อแม่ในการเลี้ยงลูกวัยรุ่นให้มีความเข้าใจกันมากขึ้น อย่างวัยรุ่นที่ชอบทำอะไรผาดโผน หรือทำอะไรเสี่ยงๆ ก็เพราะธรรมชาติของเขาคือสมองด้านการคิดและเหตุผลจะยังพัฒนาไม่เต็มที่ ดังนั้น พ่อแม่จะไปคาดหวังให้ลูกทำอะไรถูกต้องตามใจอย่างพ่อแม่คงไม่ได้ เช่น การติดแชตหรือสมาร์ทโฟน จะคาดหวังว่าลูกจะวางโทรศัพท์เองแล้วหันมาใส่ใจคนรอบข้างคงเป็นเรื่องยาก เพราะวัยรุ่นตัดสินใจจากความสุข คุยกับเพื่อนสนุกกว่าคุยกับพ่อแม่อยู่แล้ว ก็อยากให้พ่อแม่มองว่าเป็นธรรมชาติ เป็นวัยของเขา เพราะฉะนั้น ในการสื่อสารจะไปห้ามหรือเรียกมาว่าก็จะไม่ได้ผล ก็จะเกิดปัญหาบ่นด่าประชดประชันกระทบตอความสัมพันธ์ นอกจากไม่ฟังแล้วยังต่อต้านด้วย จึงต้องใช้วิธีพูดคุยแล้วแล้ววางกรอบกติกา เช่น วันนี้จะคุยกับเพื่อนนานเท่าไรดี แต่สัก 6 โมงอย่าลืมออกมาทานข้าวนะ เป็นต้น คือต้องวางกรอบเวลาให้เขาด้วย

“การเลี้ยงลูกวัยรุ่นมีความแตกต่างจากวัยเด็ก ซึ่งพ่อแม่จะชินและติดกับบทบาทพ่อแม่ที่ต้องสอนลูกในวัยเด็กมากว่า 10 ปี จึงเหมือนถูกตั้งโปรแกรมว่าพ่อแม่ต้องสอนลูก แล้วนำมาใช้ในการเลี้ยงดูสั่งสอนวัยรุ่นด้วย แต่อย่าลืมว่าวัยรุ่นไม่ใช่เด็กอีกต่อไป เป็นวัยที่กำลังพัฒนาศักยภาพของตนเอง การคิดและตัดสินใจต่างๆ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องรู้จักคิด แก้ปัญหาและช่วยเหลือตัวเองเป็น ดังนั้น จึงสอนเขาด้วยวิธีแบบเดิมไม่ได้ ต้องเลี้ยงดูเขาโดยพ่อแม่เป็นคนที่ยืนข้างๆ คอยช่วยรับฟังความคิดของเขา ทำให้เขาคิดเองเป็น เป็นผู้ฟังที่ดีคือ ไม่ใช่ฟังแล้วบอกให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ต้องฝึกให้เขาคิดเองเป็น ผ่านการตั้งคำถามว่าอย่างนี้เป็นอย่างไร ลูกมองว่าอย่างไร เพราะหากเป็นการสอนสั่งแบบเดิม เขาก็จะฟังแบบหูซ้ายทะลุหูขวา และรำคาญ ก็จะเกิดความคิดว่าไม่อยากมาคุยกับพ่อแม่อีก ซึ่งการเลี้ยงวัยรุ่นให้เขาคิดเองนั้น จะยิ่งช่วยกระตุ้นการพัฒนาของสมองส่วนการคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจให้ดียิ่งขึ้น” พญ.จิราภรณ์ กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น