xs
xsm
sm
md
lg

น้ำเมาทำ “ผู้หญิง” ถูกทำร้ายย่ำยี เผย 5 ปี ช่วยเหลือเหยื่อกว่า 1,136 เคส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดข้อมูล 5 ปี ช่วยผู้หญิงถูกทำร้ายจากน้ำเมา 1,136 กรณี พร้อมตีแผ่ชีวิตหัวอกคนเป็นแม่และเมีย แบกรับภาระจากผลกระทบน้ำเมาทำครอบครัวพัง สูญเสียสามี ต้องดูแลลูกตามลำพัง และสามีผู้ป่วยติดเตียงเพราะฤทธิ์สุรา

วันนี้ (9 ส.ค.) เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ ในเวทีเสวนา “ความจริงของผู้หญิงกับสุรา...ผลกระทบที่ต้องแบกรับ” จัดโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายในงานมีตัวแทนจากลูกได้นำพวงมาลัยมามอบให้คุณแม่ เพื่อแสดงความรักเนื่องในโอกาสวันแม่

นางสาวอังคณา อินทสา ฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากสถิติการให้บริการผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ 5 ปี ย้อนหลังระหว่างปี 55 - 59 พบว่า ผู้หญิงได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ กว่า 1,136 กรณี และลักษณะความรุนแรงที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้นมีสูงถึง 333 กรณี หรือคิดเป็น 29.3% นอกจากนี้ ยังพบปรากฏการณ์การดื่มของผู้หญิงในชุมชนเพิ่มมากขึ้น หากวิเคราะห์สถานการณ์ของผู้หญิงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในสังคมชายเป็นใหญ่ 1. มาจากความเครียด ไม่มีพื้นที่ระบายทุกข์ จนต้องหันไปหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงถูกกระตุ้นจากการตลาดของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ส่งเสริมการขายในกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานและวัยรุ่น ด้วยการลดแลกแจกแถม จัดแคมเปญจูงใจ 2. ในครอบครัวที่ผู้ชายดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มักพบว่า ผู้หญิงจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแสดงอำนาจ ทั้งในเรื่องของความรุนแรง และผู้ชายกลุ่มที่ดื่มบางส่วนไปก่อเหตุคุกคามทางเพศ ขมขื่น หรือทำร้ายผู้อื่น 3. ผลกระทบทางสังคม เมื่อสามีกลายเป็นเหยื่อคนเมาแล้วขับ บาดเจ็บ พิการ เสียชีวิต หรือสามีต้องมีปัญหาสุขภาพ จะส่งผลให้ผู้หญิงต้องเป็นเสาหลักดูแลครอบครัว หรือดูแลสามีที่ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และดูแลลูกที่ประสบปัญหาต่างๆ ซึ่งต้องทำหน้าที่ทั้งสองสถานะคือเป็นทั้งเมียและแม่

นางสาวอังคณา กล่าวว่า สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาที่มูลนิธิฯ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง คือ 1. ฟื้นฟู และเยียวยาผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศจากผลกระทบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำความรุนแรง ให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูในชุมชนด้วยรูปแบบสมัครใจผ่านการมีส่วนร่วม และรณรงค์เลิกเหล้าเข้าพรรษาให้ต่อเนื่องไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 3. พัฒนากลไก กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดเรื่องการเยียวยาฟื้นฟูไว้ชัดเจน และกฎหมายอื่นๆ เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาล หรือสถาบันธัญญารักษ์ เครือข่ายชุมชน และคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด 4. ต้องมีตัวแทนภาคประชาชนเข้าเป็นคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานให้มากขึ้น เพื่อกำหนดแนวทาง ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการบังคับใช้กฎหมาย ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาเฉพาะหน้า และต้องส่งเสริม สนับสนุนเครือข่ายภาคเอกชนและภาคประชาชนในการทำงาน

ศ.พญ.สาวิตรี อัษฎางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า สถานการณ์การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้หญิง พบว่า 1 ใน 50 คน ดื่มเป็นประจำทุกสัปดาห์ สาเหตุการดื่มเพราะเข้าถึงง่าย อยากเข้าสังคมและสังสรรค์ มีการโฆษณาของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ยังพบว่า วัยรุ่นหญิงชั้นมัธยม มีการดื่มมากถึง 75% ดื่มหนักมากกว่า 5 แก้วต่อครั้ง ในขณะที่อัตราการดื่มของวัยรุ่นชายยังคงที่ สำหรับปัญหาจากสุราทำให้เกิดผลกระทบทั้งต่อตนเองและคนอื่น เช่น อุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท คุกคามทางเพศ และการดื่มของผู้หญิงจะมีผลกระทบมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากการดูดซึมทำได้ช้ากว่า มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่า ส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ มีปัญหาต่อระบบเจริญพันธุ์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มะเร็งเต้านม ยิ่งดื่มมากยิ่งเสี่ยงเป็นมะเร็งมากขึ้น ส่วนในผู้หญิงที่ดื่มระหว่างตั้งครรภ์จะไม่มีช่วงเวลาที่ปลอดภัย และระหว่างให้นมลูก เพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์จะทำให้เด็กพัฒนาการช้า หน้าตาผิดปกติ สติปัญญาบกพร่อง ไอคิวต่ำ สมาธิสั้น

นางกานต์รวี ซุ่นสั้น ภรรยาผู้สูญเสียสามีจากคนเมาแล้วขับ กล่าวว่า การจากไปของสามีถือเป็นการสูญเสียที่กระทบต่อสภาพจิตใจมากเหมือนครึ่งหนึ่งของชีวิตหายไป แม้ที่ผ่านมา จะพยายามบอกตัวเองและลูกว่าการตายเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องเผชิญ แต่เมื่อเจอเหตุการณ์นี้เหมือนชีวิตสะดุดแล้วล้มอย่างแรง แต่ต้องรีบลุกเพราะมีลูกสองคนที่ต้องดูแลแม้เขาจะโตและเข้มแข็ง แต่ด้วยความเป็นแม่ก็อดห่วงไม่ได้ ทุกครั้งที่ร้องไห้จะไม่ให้ลูกเห็นไม่อยากอ่อนแอต่อหน้าลูก เนื่องจากที่บ้านจะเลี้ยงลูกแบบให้ช่วยเหลือตัวเอง และเตรียมพร้อมรับทุกสถานการณ์ยิ่งมีพ่อเป็นตำรวจเราไม่รู้หรอกกว่าจะเกิดอะไรขึ้นตอนไหน ส่วนภาระค่าใช้จ่ายยอมรับว่าลำบากไม่แพ้กันเพราะต้องหาเงินคนเดียวที่บ้านทำสวนปาล์มและค้าขายรายได้ก็ไม่พอประทัง ลูกสองคนต้องเรียนหนังสือ ขณะนี้ต้องนำทรัพย์สินบางส่วนไปขายเพื่อจ่ายค่าเทอมให้ลูกไปก่อน ซึ่งทางตำรวจต้นสังกัดที่สามีทำงานแจ้งว่าต้องรอการตรวจสอบจากกรมบัญชีกลางก่อนจึงจะมีความชัดเจน เราเองก็ร้อนใจเพราะหน้าที่ความรับผิดชอบของคนเป็นแม่ไม่ว่าจะมีหรือไม่ต้องหาให้ลูกเรียนจนได้

“โชคดีที่ลูกๆ เป็นเด็กดีตั้งใจเรียน ทำให้คนเป็นแม่มีกำลังใจสู้ต่อ แม้ต้องปรับตัวค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกับสังคมรอบตัว ซึ่งพยายามทำจิตใจให้เข้มแข็ง ใช้หลักธรรมะเข้าช่วย ซึ่งการสูญเสียครั้งนี้ไม่อยากให้สูญเปล่า แต่อยากฝากเป็นบทเรียนให้กับคนเมาแล้วขับว่า อย่าคิดว่ามันจะไม่เกิดขึ้น ไม่ถึงคราวซวย เพราะคิดกันแบบนี้จึงประมาท ความสูญเสียจึงเกิดขึ้นทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น เจ็บ ตาย พิการ ชีวิตของผู้ที่เป็นเหยื่อ ครอบครัวเขาต้องล่มสลาย ถ้าคิดจะดื่มก็ไม่ควรขับรถ แต่ทางที่ดีไม่ดื่มจะดีที่สุด” นางกานต์รวี กล่าว

ด้าน นางปลา (นามสมมติ) อายุ 35 ปี ภรรยาที่ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวและดูแลสามีป่วยติดเตียง กล่าวว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้ว สามีเกิดอุบัติเหตุเพราะเมาแล้วเกิดอุบัติเหตุ จนต้องกลายเป็นอัมพาต ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พูดไม่ได้ ต้องนอนติดเตียง ทำให้ภาระทั้งหมดตกอยู่ที่ตนเองคนเดียว ส่วนเงินเก็บที่มีอยู่หมดไปกับค่ารักษาพยาบาล ลำพังเงินเดือนจากการซักรีด ทำความสะอาด 3 - 4 พันบาท แทบไม่พอใช้ ทุกคนในบ้านต้องใช้ชีวิตลำบากมาก เพราะจากที่สามีทำงานนอกบ้าน มีรายได้ 2 ทาง ตอนนี้ไม่มีรายได้ แถมลูกต้องเรียนหนังสือ

“แม้สามีเป็นแบบนี้ก็ไม่เคยคิดจะทอดทิ้ง สัญญากับลูกและสามีว่าจะดูแลกันไปแบบนี้ สิ่งที่ทำให้มีกำลังใจคือลูก และเราก็พยายามคิดบวก พยายามให้กำลังใจตัวเอง รวมถึงสามีเพื่อให้ผ่านพ้นปัญหาไปด้วยกัน คิดในเชิงบวก และอยากฝากถึงสังคมให้นำเรื่องนี้มาเป็นบทเรียน เพื่อให้เห็นผลกระทบ หันมาลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเมื่อมีคนหนึ่งในครอบครัวที่ดื่มไม่ว่าจะเป็นสามีหรือลูกก็ตาม ภาระสารพัดก็จะตกอยู่กับผู้หญิงที่ต้องแบกรับเพียงลำพัง” นางปลา (นามสมมติ) กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น