เคยไหมเวลาถูกลูกถามเรื่องเพศทีไร แล้วได้แต่อึ้ง เพราะไม่รู้จะตอบอย่างไรดี...เชื่อว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองหลายคนเคยเจอกับสถานการณ์แบบนี้ ส่วนใหญ่ตอบแบบปัดไปก่อน บอกว่ายังไม่ถึงเวลาต้องรู้บ้าง อีกหน่อยโตขึ้นก็รู้เองบ้าง หรือไม่ใช่เรื่องของเด็ก ซึ่งวิธีการตอบดังกล่าว รู้หรือไม่ว่า อาจทำให้เด็กเอาไปคิดเอง สรุปเอง หรือถามเพื่อนในวัยเดียวกันที่อาจขาดวุฒิภาวะ ทำให้ตัดสินใจพลาดได้
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ยิ่งในช่วงที่ผ่านมา มีอยู่หลายข่าวที่ทำให้คนเป็นพ่อแม่เกิดอาการรู้สึกร้อนใจ ทั้งปัญหาความรุนแรงทางเพศ และท้องไม่พร้อมในวัยเรียน ยิ่งมาดูข้อมูลของกรมอนามัยก็ยิ่งตกใจ เมื่อพบวัยรุ่นหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี มีอัตราท้องไม่พร้อมเพิ่มจากวันละ 4 คนในปี 2543 เป็นวันละ 9 คนในปี 2556
แม้จะมีหลายเวทีตั้งขึ้นมาเพื่อหาทางออกของปัญหาดังกล่าว แต่หากพ่อแม่ไม่เข้าใจให้ถูกต้องใน 3 ด้าน (ทัศนคติเรื่องเพศ ความรู้เรื่องเพศ และทักษะพูดคุยสื่อสาร) ก็ยากที่คว้าโอกาสทองในการคุยกับเรื่องเพศ ทำให้ "โครงการโอกาสทอง คุยเรื่องเพศกับลูก ช่วยคุณได้หลายวิธี" จึงเกิดขึ้น โดยความร่วมมือระหว่างแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ กลุ่มแบ่งฝันปันใจ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
หนึ่งในกิจกรรมหลักของโครงการฯ ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองให้ความสนใจก็คือหลักสูตร "พลิกมุมมองเรื่องเพศ คุยกับลูกเชิงบวก" โดยความน่าสนใจของหลักสูตรนี้ "จิตติมา ภานุเตชะ" ผู้อำนวยการมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง ในฐานะกระบวนกรของหลักสูตร เป็นตัวแทนบอกเล่าให้ฟังว่า ตัวหลักสูตรจากประสบการณ์การทำงานของแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศเพื่อพลิกมุมมองเรื่องเพศในมุมใหม่ ตั้งแต่ทัศนคติเรื่องเพศ ความรู้เรื่องเพศ และทักษะพูดคุยเรื่องเพศกับลูก
"เราพบว่า การที่จะทำให้เกิดการสื่อสารเรื่องเพศในครอบครัว เราจะต้องคืนกระบวนการเรียนรู้ร่วมให้กับพ่อแม่ และลูกให้ได้ เพราะว่าส่วนใหญ่ เวลาพ่อแม่พูดถึงเรื่องเพศจะพูดอยู่บนฐานของความกลัวว่ามันเป็นอันตราย และใช้วิธีพูดแบบห้ามปรามกันมาโดยตลอด ดังนั้น สิ่งที่ต้องพลิกอันดับแรกเลยก็คือ ต้องพลิกมุมใหม่ว่าเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หรืออันตราย แต่เป็นเรื่องซึ่งมันอยู่ในส่วนหนึ่งของชีวิต และมันก็มีผลต่อชีวิตถ้าเตรียมตัวลูกเราไม่ดี
อันดับต่อมาคือ การพูดเรื่องเพศที่ไม่ใช่การบอกข้อมูลทางการแพทย์ หรือข้อมูลสุขภาพโดยท่องจำไปสื่อสารกับลูก บางคนเอาล่ะ ท่องๆๆๆ จากการได้ยิน ได้ฟังคุณหมอ หรือผู้เชี่ยวชาญคนนี้พูดดีก็ไปบอก ไปสอนลูก ซึ่งมันไม่ใช่ค่ะ เราต้องการรื้อวิธีคิดนี้ว่าไม่ใช่เรื่องของผู้เชี่ยวชาญ แต่เป็นเรื่องที่จะทำอย่างไรให้บรรยากาศในบ้าน หรือบรรยากาศของความสัมพันธ์มันเอื้อต่อการพูดคุย
(ซ้าย) ปรียากมล น้อยกร (ขวา) จิตติมา ภานุเตชะ กระบวนกรหลักสูตรพลิกมุมมองเรื่องเพศ คุยกับลูกเชิงบวก
ยกตัวอย่างเรื่องการบริหารอำนาจอย่างสร้างสรรค์ที่จะปรับความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูก หรือผู้ใหญ่กับเด็กให้อยู่ในบรรยากาศของความเท่าเทียมเพื่อที่จะนำไปสู่เรื่องของการสื่อสารเรื่องเพศเชิงบวกต่อไป" ผอ.มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง บอก และเผยต่อไปถึงความน่าเป็นห่วงหากพ่อแม่ยังมีทัศนติผิดๆ เกี่ยวกับเรื่องเพศ
"เด็กเองก็เติบโตมาในสังคมที่บอกว่า เด็กไม่ควรรู้เรื่องเกี่ยวกับเพศ การที่เด็กรู้เรื่องนี้คือผิด หรือเป็นเด็กแก่แดด แต่ในขณะที่โลกมันรุดหน้า สื่อต่างๆ เข้าถึงเด็ก เขาจึงมีคำถามสงสัย ซึ่งเคยทำผลสำรวจเด็ก พบว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์ต้องการคุยเรื่องนี้กับพ่อแม่ แต่เอาเข้าจริงมีแค่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่กล้าพูดกับพ่อแม่ เพราะนอกนั้นกลัวถูกดุ ถูกด่า หรือกลัวถูกพ่อแม่มองว่าเป็นเด็กไม่ดี
ส่วนตัวเชื่อว่าพ่อแม่หลายคนอยากเข้าถึงเด็ก เพราะวิถีชีวิตทุกวันนี้มันทำให้พวกเขารู้สึกว่าห่างไกลจากเด็ก พ่อแม่รู้ว่าเด็กมีโลกของเขา บางคนพบว่าลูกเริ่มดูหนังโป๊ เข้าไปดูประวัติการเข้าใช้บนอินเทอร์เน็ต บางคนก็ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ลึกๆ ก็อยากคุย แต่ไม่รู้จะคุยยังไง จะดุ จะว่าก็กลัวความสัมพันธ์จะยิ่งห่างเหิน
ดังนั้น การบริหารอำนาจ บวกกับการคุยกับลูกเรื่องเพศอย่างสร้างสรรค์ ทำให้เห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้เกิดการวางใจกันและกัน มีความใกล้ชิด มั่นใจ และให้โอกาสที่ทุกคนเป็นตัวของตัวเอง เด็กก็จะเกิดความรู้สึกว่าพ่อแม่ไว้ใจ คอยเป็นเพื่อนร่วมทาง อยู่ข้างตัวให้ได้ถามไถ่ โอกาสพลาดก็จะมีน้อยลง หรือไม่มีเลย แต่พ่อแม่ต้องมีความรู้ความเข้าใจลูกในแต่ละวัยเพื่อวางแผนชีวิตเรื่องเพศให้ลูกด้วย"
ท้ายนี้ ผอ.มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง ให้หลักง่ายๆ ในการสร้างความไว้ใจกับลูก เริ่มจากรู้จักตัวเองและลูกหลาน ทั้งความคิด ความรู้สึก ข้อเด่น ข้อจำกัดที่มีต่อเรื่องต่างๆ ของแต่ละคน, ยอมรับ เคารพให้เกียรติตัวตนของเขาอย่างที่เขาเป็น, รับฟัง พูดคุยอย่างมีสติ, ทำในสิ่งที่พูด รักษาสัญญา, เก็บความลับ ไม่นำเรื่องส่วนตัวของลูกไปพูดต่อ และที่สำคัญคือต้องสม่ำเสมอ ความไว้ใจไม่สามารถสร้างได้ในวันเดียว ต้องทำสะสมอย่างต่อเนื่อง
8 วอร์มอัพ ก่อนคุยเรื่องเพศ
1. เตรียมความคิด
สร้างความเชื่อมั่นให้กับตัวเองว่าเรื่องเพศเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต ไม่ได้หมายถึงแค่การมีเพศสัมพันธ์ พยายามคิดถึงประโยชน์ที่ลูกๆ จะได้รับเข้าไว้ เช่น มีทักษะเจรจาต่อรอง รู้จักปฏิเสธ รู้วิธีป้องกันตัวเอง ที่สำคัญเมื่อสงสัยเรื่องเพศก็จะไม่เรียนรู้จากเพื่อนๆ แต่เห็นเราเป็นแหล่งข้อมูลชั้นเยี่ยม
2. เตรียมใจ
ทำใจให้ผ่อนคลาย อย่ากังวลมากเกินไปว่าลูกจะถามเรื่องอะไร เพราะเราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง เมื่อไม่รู้ก็ให้บอกไปตามตรง และช่วยกันหาคำตอบ ค้นข้อมูลด้วยกัน ทำให้กลายเป็นกิจกรรมสนุก เพิ่มความใกล้ชิดในครอบครัว
3. พร้อมรับฟัง
ฟังเรื่องที่ลูกพูดอย่างตั้งใจ รับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของเขา ห้ามด่วนตัดสินว่าผิดหรือถูกก่อนฟังจบ และพูดคุยด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน ไม่คาดคั้น พร้อมประคับประคองความรู้สึกของลูก
4. เรียนรู้โลกของลูก
เด็กวัยเดียวกันมีการรับรู้ มีความสามารถเฉพาะตัวต่างกัน จึงไม่สามารถใช้คำตอบเดียวกันกับทุกคนได้ ผู้ใหญ่จึงต้องหมั่นสังเกตว่าเด็กคบเพื่อนแบบไหน อ่านหนังสือหรือชอบดูทีวีรายการประเภทไหน เมื่อรู้จักโลกของเขาก็จะทำให้รู้แนวทางว่าควรคุยเรื่องเพศกับเขาอย่างไรจึงเหมาะสม
5. ใช้เหตุการณ์รอบตัวมากเปิดประเด็น
มีหลายโอกาสที่สามารถเริ่มพูดคุยเรื่องเพศกับเขาได้ เช่น เมื่อมีผู้หญิงท้องเดินผ่านมา ลองถามลูกดูว่า "หนูคิดว่าเด็กเกิดมาจากไหน" "เคยเห็นผู้ชายตั้งท้องไหม" หรือตอนดูละครด้วยกันแล้วมีฉากเลิฟซีนฟินเวอร์ อาจถามเด็กว่า "คิดอย่างไรกับฉากนี้"
6. ไม่ยัดเยียดข้อมูล
เรื่องเพศจะน่าเบื่อเหมือนวิชาเรียนทันที ถ้าพ่อแม่ ผู้ปกครองใส่ข้อมูลมากเกินไป เราไม่จำเป็นต้องทำเหมือนจับเขามาอบรมสัมมนา แต่ควรเลือกเวลาสบายๆ เช่น เดินเล่น ขับรถ นอนเล่นริมชายหาด เป็นต้น ปล่อยให้การพูดคุยลื่นไหลไปเท่าที่ลูกมีความสนใจหรืออยากคุย
7. ถามแบบเปิดกว้าง และไม่จู่โจม
การชวนคุยแบบไม่เจาะจง และอ้างอิงถึงคนอื่นที่จะทำให้ลูกสบายใจ ไม่รู้สึกว่าถูกจ้องจับผิด ช่วยให้เขาแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระมากขึ้น อาจใช้คำถาม เช่น "หนูคิดว่าดาราชายให้สัมภาษณ์แบบนี้ ดูเป็นสุภาพบุรุษหรือเปล่า" หรือสมมติว่าลูกเจอเรื่องแบบนี้บ้าง จะรู้สึกอย่างไร แล้วจะทำอย่างไร"
8. กฎเหล็กสอง "ไม่"
- ไม่ล้อเลียน เช่น ล้อเด็กผู้ชายที่เรียบร้อยว่าเป็น "ตุ๊ด" "กะเทย" รวมถึงไม่ส่งเสริมให้เด็กเล่นบทบาทสมมติเรื่องเพศเพื่อให้ผู้ใหญ่ขบขัน เช่น ยุให้เด็กผู้ชายไปกอดหรือหอมแก้มเด็กผู้หญิง และทำท่าล้อเลียนผู้หญิง เพราะเป็นการบ่มเพาะให้เด็กละเมิดสิทธิผู้อื่น ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงทางเพศ
- ไม่ขู่ เพราะการขู่ให้เด็กกลัวเรื่องเพศ ทำให้เด็กขาดความมั่นใจ บางครั้งก็ปิดกั้นตัวเองจากการหาข้อมูลหรือทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตทางเพศที่ปลอดภัย แนวทางที่เหมาะสมกว่าคืออธิบายอย่างตรงไปตรงมา กระตุ้นให้คิดวิเคราะห์จากสถานการณ์ เพื่อให้เป็นนิสัยเลยว่า ความปลอดภัยขึ้นอยู่กับการแสดงหาข้อมูลและการเตรียมตัวที่ดี
ท่านใดสนใจเข้าร่วมอบรมในหลักสูตร "พลิกมุมมองเรื่องเพศ คุยกับลูกเชิงบวก" เพื่อเตรียมความพร้อมในการคุยกับเรื่องเพศผ่านการแบ่งปันประสบการณ์ และเรียนรู้ร่วมกันกับผู้ปกครองหัวอกเดียวกันทั่วประเทศ สมัคร และสอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. 02-315-7550, 061-919-0111 หรือสามารถดาวน์โหลดคู่มือ "โอกาสทองคุยกับลูกเรื่องเพศ" ฉบับเต็มไว้อ่านเป็นแนวทางกันได้ที่ www.คุยเรื่องเพศ.com
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754