ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ชี้ งานเสวนาโดยกรมควบคุมโรคบิดเบือนความจริง ให้ข้อมูลด้านเดียว ยืนยันผลศึกษาจากต่างประเทศ บุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นสาเหตุให้คนสูบบุหรี่มวนมากขึ้น ขณะสถาบันมะเร็ง สหรัฐฯ แนะนำให้ใช้แทนบุหรี่จริง ด้าน ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ นิด้า แนะควรหาทางใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ระบุ บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีการเผาไหม้ ละอองไอที่ออกมาอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน
จากกรณีที่มีการจัดเสวนาเรื่อง “ตีแผ่ความจริงบุหรี่ไฟฟ้า อันตรายอย่างไร” ที่โรงแรมเอเชีย เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจากกรมควบคุมโรคและนักวิชาการกลุ่มหนึ่งเข้าร่วมงานเสวนา นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “ลาขาดควันยาสูบ End Cigarette Smoke Thailand (ECST)” และเฟซบุ๊ก “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ ว่า “กรมควบคุมโรคและนักวิชาการกลุ่มนี้ยังคงออกมาย้ำข้อมูลบิดเบือนเดิมๆ ว่า นิโคตินเป็นสาเหตุของการเกิดโรคจากการสูบบุหรี่ต่างๆ และบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เด็กหันมาติดบุหรี่มวน ทั้งๆ ที่ผลการศึกษาของสาธารณสุขอังกฤษ ฉบับที่ 4 ก็ออกมาย้ำว่านิโคตินมีผลทำให้เสพติด แต่ไม่ใช่สาเหตุหลักของการเกิดโรคร้ายแรงที่เกิดจากการสูบบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้คนหันมาลองบุหรี่มากขึ้น นอกจากนี้ สถาบันมะเร็งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society) เองก็เพิ่งเปลี่ยนจุดยืนกลับมาสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า โดยบอกว่าจากหลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน สามารถสรุปได้ว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายต่อสุขภาพน้อยกว่าการสูบบุหรี่มวน แนะนำให้ผู้สูบบุหรี่ใช้ทดแทน เพื่อเป็นทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่า และแนะนำให้ติดตามผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพต่อไป”
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าเริ่มมีจำนวนมากขึ้น รายงานฉบับล่าสุดของสาธารณสุขอังกฤษ สถาบันวิชาการแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมและการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา และ สถาบันมะเร็งสหรัฐอเมริกาต่างระบุตรงกันว่า ละอองไอจากบุหรี่ไฟฟ้ามีปริมาณสารพิษน้อยกว่าควันจากบุหรี่ เพราะไม่มีการเผาไหม้ ผู้สูบบุหรี่จึงควรได้รับการสนับสนุนให้เปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ หรือเพื่อช่วยในการเลิกบุหรี่ และแนะนำให้กำหนดมาตรการด้านสาธารณสุขหรือนโยบายที่ป้องกันเยาวชนและผู้ไม่สูบบุหรี่ไม่ให้เกิดการเริ่มใช้บุหรี่หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับยาสูบทุกประเภท
นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายฯ อีกรายกล่าวเสริมว่า “การให้ข้อมูลด้านเดียวแบบนี้ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าและป้องกันการเข้าถึงของเยาวชนเลย การสัมมนาวิชาการควรมีผู้ที่เกี่ยวข้องจากทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านเข้าร่วมชี้แจงด้วย จะได้เป็นการให้ข้อมูลที่เป็นกลาง ครบถ้วน ร่วมกันหาทางออกให้กับผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการลดอันตรายจากควันบุหรี่ ในขณะเดียวกันหาทางป้องกันเด็กเยาวชนไม่ให้เข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้โดยง่าย เราพร้อมนำเสนอผลข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และขอเสนอให้มีการรวบรวมและทำการศึกษาข้อมูลผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์จากต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งศึกษาผลดีและผลเสียของแนวนโยบายของต่างประเทศที่มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ เพื่อประกอบการตัดสินใจกำหนดนโยบายในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย”
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้ความเห็นว่า ต้นตอสำคัญของปัญหามลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายต่อคุณภาพอากาศและสุขภาพ คือการเผาไหม้ เช่นการเผาไหม้เชื้อเพลิงของยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งก่อให้เกิดสารอันตรายและฝุ่นละอองต่างๆ รวมทั้งละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้ตลอดเวลา เราจึงเห็นได้ว่าในหลายๆ ประเทศ เริ่มให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ มุ่งเน้นที่การกำจัดกระบวนการเผาไหม้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษ ซึ่งเสนอแผนลดมลพิษในอากาศ โดยห้ามการใช้รถที่ใช้เชื้อเพลิงเบนซินและดีเซล ภายในปี 2593 เพื่อลดระดับไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้น้ำมันดีเซล กรณีของบุหรี่ไฟฟ้านั้น โดยหลักการแล้วบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีการเผาไหม้ ละอองไอที่ออกมาจึงมีสารอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนมาก ซึ่งการให้ข้อมูลที่ไม่ครบอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ เพราะฝุ่น 2.5 สามารถพบได้จากการเผาไหม้เครื่องยนต์หรือบุหรี่ปกติเหมือนกัน