ขณะที่ทรัมป์หลงลำพองดันหลักการ “อเมริกาต้องมาก่อน” เป็นมาตรฐานชี้นำนโยบายต่างๆ พญามังกรนั่งอมยิ้มเงียบกริบเพราะรู้ว่า แผนการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากเทคโนโลยียานยนต์พลังงานทางเลือกง่ายดายขึ้นอีกโข โดยในวันเดียวกับที่ประมุขทำเนียบขาวประกาศนำอเมริกาถอนตัวจากข้อตกลงลดโลกร้อนนั้น ผู้นำปักกิ่งเดินทางเยือนเบอร์ลินพร้อมคำมั่นสัญญาว่า จีนจะไม่ตระบัดสัตย์ในการลดการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจก และเต็มใจเปิดตลาดรถรับบริษัทเยอรมัน ขณะที่ค่ายรถยักษ์ใหญ่เมืองเบียร์ไม่ทำให้เสียน้ำใจ ประกาศแผนกระชับความร่วมมือทั้งด้านรถไฟฟ้าและรถอัตโนมัติกับพันธมิตรแดนมังกรอย่างชื่นมื่น
หยุนซื่อ หวัง ผู้อำนวยการไชน่า เซ็นเตอร์ ฟอร์ อิเนอร์จี แอนด์ ทรานสปอร์เตชัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันเพื่อการศึกษาด้านการขนส่งของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส บอกว่า การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ตัดสินใจลดตัวไปอยู่ในหมู่เดียวกับประเทศอย่างซีเรียและนิคารากัว ประกาศหันหลังให้ข้อตกลงปารีสที่มีเป้าหมายในการลดโลกร้อนเมื่อวันพฤหัสฯ ที่แล้ว (1 มิ.ย.) โดยอ้างว่า เพื่อจัดสรรความมั่งคั่งมากมายมหาศาลของอเมริกาใหม่นั้น กลายเป็นการเตะหมูเข้าปากหมาเต็มๆ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จีนพยายามอย่างหนักเพื่อแย่งชิงตำแหน่งผู้นำจากสหรัฐฯ ในทุกด้านเท่าที่เป็นไปได้
เรื่องนี้ก็เช่นกัน ปักกิ่งพร้อมเติมเต็มสุญญากาศผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการประกาศในทันทีว่า จะยึดมั่นลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนภายในปี 2030 และแนวทางหนึ่งที่ตอบสนองเป้าหมายนี้ก็คือ การผลักดันรถพลังงานทางเลือกใหม่
ภายใต้กฎที่จะเริ่มบังคับใช้อย่างจริงจังในปีหน้า ผู้ผลิตรถจะต้องทำยอดขายรถที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่และวิ่งได้ระยะทาง 322 กิโลเมตรให้ได้ 2,500 คันจากยอดขายรถยนต์และรถบรรทุกทุก 100,000 คัน หรือซื้อเครดิตจากคู่แข่งแบบเดียวกับกฎของรัฐแคลิฟอร์เนียที่จีนใช้เป็นต้นแบบ หรือลดยอดขายรถที่ใช้น้ำมันเบนซินลง
หวังอธิบายว่า รถปลอดไอเสีย (ZEV) ส่งผลดีต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงในแง่ที่ว่า จีนสามารถลดการนำเข้าน้ำมันได้ นอกจากนั้น ตอนนี้ผู้ผลิตรถของจีนยังมอง ZEV เป็นโอกาสในการส่งออกรถยนต์และรถบรรทุกจำนวนมาก
บิลล์ รัสโซ กรรมการผู้จัดการเกา เฟิ่ง แอดไวเซอรี และอดีตประธานไครสเลอร์ในเครือไครสเลอร์ ออโตโมบิลส์ในจีน ชี้ว่า การตัดสินใจยุติบทบาทในการช่วยบรรเทาปัญหาโลกร้อนของทรัมป์ กับนโยบายของจีนในการส่งเสริมรถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะส่งให้จีนกลายเป็นผู้นำในการสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจจากเทคโนโลยียานยนต์พลังงานใหม่
นอกจากนั้น ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ทรัมป์ประกาศการตัดสินใจที่ทำให้อเมริกาถูกทั่วโลกรุมประณามดังกล่าว นายกรัฐมนตรีหลี่ เคอะเฉียงของจีน ยังร่วมแถลงข่าวกับนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคลของเยอรมนี ที่เบอร์ลินว่า จีนจะยังคงนำเสนอสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยเพื่อช่วยให้บริษัทรถเมืองเบียร์ทำยอดขายได้มากขึ้น
หลี่ยังพูดลอยๆ แต่ตั้งใจสอยทรัมป์เต็มหมัดว่า ถึงเยอรมนีเกินดุลการค้าจีนมโหฬาร แต่จีนไม่คิดเล็กคิดน้อย
“เรายินดีที่ผู้บริโภคจีนมีทางเลือกมากขึ้น ถ้าพวกเขาเลือกสินค้าเยอรมัน เราก็ยังจะยินดีเหมือนเดิม” ทั้งนี้ เพราะทั้งปักกิ่งและเบอร์ลินต่างโดนทรัมป์จิกกัดเรื่องที่ดันไปเกินดุลการค้าอเมริกามหาศาล
หลี่และแมร์เคลยังร่วมเป็นสักขีพยานแผนการของเดมเลอร์และโฟล์คสวาเกนในการขยายการลงทุนผลิตรถไฟฟ้าในจีนที่ทั้งสองบริษัทยกให้เป็นตลาด “การขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า” ใหญ่ที่สุดของโลก
จีน ในฐานะผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเบอร์หนึ่งของโลก ลงทุนไปแล้วหลายพันล้านดอลลาร์กับโครงสร้างพื้นฐานพลังงานสะอาด และขณะนี้กำลังมุ่งมั่นสร้างอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า ส่วนหนึ่งนั้นเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่ ซึ่งรวมถึงปักกิ่ง
ในส่วนเดมเลอร์เผยว่า จะซื้อหุ้นส่วนน้อยในปักกิ่ง อิเล็กทริก เวฮิเคิล ซึ่งเป็นบริษัทรถไฟฟ้าในเครือของ BAIC ของจีน รวมทั้งจะลงทุนเพื่อยกระดับโรงงานผลิตเดิมในโครงการร่วมทุนกับ BAIC เพื่อปูทางสู่การผลิตรถพลังงานใหม่สนองนโยบายของปักกิ่ง ซึ่งหมายถึงรถที่ปล่อยไอเสียต่ำและครอบคลุมทั้งรถไฮบริดและรถไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่อย่างเดียว
สำหรับแผนการของโฟล์คสวาเกน ค่ายรถใหญ่ที่สุดของโลก คือทำยอดขายรถไฟฟ้าปีละ 1.5 ล้านคันในจีนตั้งแต่ปี 2025 ผ่านการร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทท้องถิ่นทั้ง JAC, SAIC และ FAW ในการผลิต วิจัยและพัฒนารถไฟฟ้า โดยรถรุ่นแรกที่โฟล์คสวาเกนออกแบบร่วมกับ JAC มีกำหนดขึ้นสายการผลิตในปีหน้า
นอกจากโปรเจ็กต์รถไฟฟ้าแล้ว โรเบิร์ต บ๊อชและคอนติเนนตัล สองบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชื่อดังของเยอรมนี ยังประกาศแผนการร่วมมือกับไป่ตู้ บริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่แดนมังกร ในการพัฒนาเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติและเทคโนโลยีการสัญจรอัจฉริยะ (smart mobility services)
หวังจากไชน่า เซ็นเตอร์ ฟอร์ อิเนอร์จี แอนด์ ทรานสปอร์เตชัน ทำนายว่า ภายในปี 2025 ยอดขายรถในจีน 10-20% จะเป็นรถที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่หรือปลั๊ก-อินไฮบริด เฉพาะปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคจีนซื้อรถพลังงานใหม่ทั้งสิ้น 507,000 คัน หรือกว่า 3 เท่าของยอดขายรถประเภทนี้ในอเมริกา
โรแลนด์ ฮวาง ผู้อำนวยการโครงการขนส่งของเนเชอรัล รีซอร์ส ดีเฟนซ์ เคาน์ซิล ซึ่งเป็นองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ขานรับว่า ปัจจุบัน จีนเป็นตลาดรถไฟฟ้าใหญ่ที่สุดของโลก และกฎสัดส่วนยอดขายรถไฟฟ้าของทางการปักกิ่งจะช่วยผลักดันตลาดรถไฟฟ้าขยายตัวทั่วโลก