“ศาลปกครอง” สั่งกรมสรรพสามิตคืนเงินผู้ซื้อรถโครงการรถยนต์คันแรก 1 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยภายใน 60 วัน ชี้รถยนต์ที่จองกับรถยนต์ที่รับจริงต่างกันไม่เป็นไร ระบุจองภายในระยะเวลาดำเนินโครงการถือว่าอยู่ในเกณฑ์ได้รับคืนเงิน
วันนี้ (21 ก.พ.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาสั่งให้กรมสรรพสามิตคืนเงินตามโครงการรถยนต์คันแรกตามนโยบายของรัฐบาล จำนวน 1 แสนบาทให้กับ น.ส.กัลยา เพริดพริ้ง ที่ยื่นใช้สิทธิขอรับเงินคืน แต่ถูกเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตปฏิเสธ โดยอ้างว่า น.ส.กัลยาไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ จึงทำให้ น.ส.กัลยายื่นฟ้องอธิบดีกรมสรรพสามิต กรมสรรพสามิต อธิบดีกรมบัญชีกลาง และกรมบัญชีกลาง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 ขอให้ศาลพิพากษาสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนเงินจำนวน 1 แสนบาทพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ตน
ส่วนเหตุผลที่ศาลฯสั่งให้กรมสรรพสามิตคืนเงินเนื่องจากเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีประกอบกับคำแนะนำสำหรับประชาชนในกรณีขอคืนเงินสำหรับโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกตามนโยบายรัฐบาล กำหนดให้ผู้ยื่นคำขอใช้สิทธิรับเงินคืนที่ไม่สามารถจดทะเบียนรถยนต์ต่อกรมการขนส่งทางบกได้ทันภายในระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ ต้องยื่นเอกสารหลักฐานในส่วนของใบจองรถยนต์ เพื่อประกอบการพิจารณาการคืนเงินตามโครงการดังกล่าวด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการจองซื้อรถยนต์ภายหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาตามโครงการไปแล้ว อันเป็นการขยายระยะเวลาของโครงการดังกล่าวออกไป
รวมทั้งเพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการซื้อและขายใบจองรถยนต์ โดยกำหนดให้ชื่อผู้ซื้อที่ระบุในใบจองรถยนต์จะต้องเป็นชื่อบุคคลเดียวกันกับผู้ซื้อรถยนต์ที่ยื่นขอใช้สิทธิดังกล่าว ดังนั้น การที่ น.ส.กัลยาได้รับมอบรถยนต์ และได้เข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวกับธนาคารภายในระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ เพียงแต่ได้ยื่นเอกสารหลักฐานใบจองที่ระบุแบบของรถยนต์ไม่ตรงกับแบบรถยนต์คันที่ น.ส.กัลยาได้รับมอบไปเท่านั้น กรณีนี้จึงมิได้ทำให้ข้อเท็จจริงที่ว่า น.ส.กัลยา เป็นผู้ซื้อรถยนต์ใหม่คันแรกภายในระยะเวลาสิ้นสุดโครงการเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งมิได้มีผลอันแสดงให้เห็นได้ว่า น.ส.กัลยาได้ทำการซื้อหรือจองรถยนต์หรือได้ทำการซื้อใบจองรถยนต์คันดังกล่าวภายหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาตามโครงการแต่อย่างใด
นอกจากนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากที่ น.ส.กัลยาได้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปจดทะเบียนต่อกรมการขนส่งทางบกแล้ว และได้นำหลักฐานมายื่นเพิ่มเติมต่อเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพสามิต และได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีเอกสารหลักฐานใบจองรถยนต์ระบุแบบรถยนต์ของ น.ส.กัลยาผิดพลาด พร้อมทั้งได้แนบใบจองรถยนต์ที่ถูกต้องมาพร้อมกับหนังสือฉบับดังกล่าวยื่นต่อเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพสามิต กรณีจึงเป็นเพียงการแก้ไขข้อมูลในเอกสารหลักฐานใบจองรถยนต์ให้ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริงเท่านั้น มิได้มีลักษณะเป็นการขอเปลี่ยนแปลงใบจองรถยนต์เป็นรถยนต์ใหม่คันอื่น จึงเห็นได้ว่า น.ส.กัลยาใช้สิทธิขอรับเงินคืนสำหรับรถยนต์ใหม่คันแรกตามนโยบายรัฐบาล และได้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวครบ 1 ปี น.ส.กัลยาจึงเป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับเงินคืนสำหรับโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกตามนโยบายรัฐบาล จึงพิพากษาให้กรมสรรพากร และกรมบัญชีกลาง ดำเนินการเพื่อคืนเงินตามโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกตามนโยบายรัฐบาล จำนวน 1 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ น.ส.กัลยา ภายใน 60 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด