xs
xsm
sm
md
lg

“ศุลกากร” แจงกรณีดรามาเก็บภาษีกระเป๋าแบรนด์เนม เหตุพบเป็นกระเป๋าใหม่และนำติดตัวเข้ามาในประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กรมศุลกากร” แจงประเด็นชาวเน็ตโวย โดนเรียกภาษีคนที่ถือกระเป๋าแบรนด์เนม 2 หมื่น พบเป็นกระเป๋าใหม่ ที่มีราคาสูง และนำติดตัวเข้ามาในราชอาณาจักร จึงต้องชำระค่าภาษีอากรตามหลักเกณฑ์

จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ข้อความลงโลกโซเชียลเกี่ยวกับกรณี กรมศุลกากรได้เรียกเก็บอากรกับกระเป๋าที่ซื้อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา แล้วใช้ถือก่อนจะเดินทางออกนอกประเทศ กระทั่งถือกลับมาประเทศไทย เป็นของใช้ส่วนตัว ถูกศุลกากรให้เรียกตรวจผ่านระบบโฮโลแกรม แล้วให้จ่ายเงินอากร 20,000 บาท อ้างว่าเป็นของใหม่ ต้องจ่ายภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ทั้งที่ตนสะพายประจำ ไม่ใช่ใส่ในกระเป๋าเดินทาง

ล่าสุด (20 มี.ค.) เพจ “กรมศุลกากร : The Customs Department” โดยผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง ในฐานะรองโฆษกกรมศุลกากร นายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ พร้อมด้วย นายบุญมี บรูณะภักดี ผู้อำนวยการส่วนบริการผู้โดยสาร สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ น.ส.นัยรัตน์ พงศ์ศักดินนท์ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ ได้ออกมาชีแจงถึงกรณีดังกล่าวผ่านเพจโดยระบุข้อความว่า

“ผู้โดยสารฯ เดินทางจากฮ่องกง ถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561 โดยเที่ยวบินที่ CX 615 เดินออกช่องเขียวทาง EXIT C เวลาประมาณ 11.00 น. เจ้าหน้าที่เรียกตรวจพบว่า ผู้โดยสารมีกระเป๋า CHANEL รุ่น BOY สภาพใหม่ เจ้าหน้าที่สังเกตเห็นว่ามีซีลพลาสติกใสปิดที่โลโก้ จึงขอเปิดกระเป๋าเดินทางเพื่อตรวจสอบ จากการเปิดตรวจพบเป็นกล่องกระเป๋า CHANEL สภาพใหม่ และเสื้อคลุม ยี่ห้อ BURBERRY เจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบกระเป๋าถือและนำเลข HOLOGRAM STICKER และ Authenticity Number (หมายเลขของกระเป๋าที่ประทับบนโลโก้ CHANEL ด้านใน และหมายเลขในการ์ดสีดำขอบทอง) ซึ่งตัวเลขที่ระบุจะบ่งบอกปีที่ผลิต เมื่อเห็นว่าเป็นรุ่นใหม่ เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้สอบถามการได้มาเกี่ยวกับกระเป๋าดังกล่าว ผู้โดยสารแจ้งว่า เป็นของขวัญที่ได้รับจากเพื่อนชายต่างประเทศ ไม่มีใบเสร็จรับเงิน เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงได้แจ้งผู้โดยสาร ว่า เป็นของที่ต้องเสียภาษีอากร ผู้โดยสารไม่ปฏิเสธ และยินดีชำระค่าภาษีอากรตามที่เจ้าหน้าที่ได้แจ้ง เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงร่วมกันพิจารณารับราคาประเมินเจ็ดหมื่นบาท ภาษีอากรรวมทั้งสิ้นสองหมื่นบาท ผู้โดยสารยินยอมชำระอากรปากระวางจึงดำเนินการพิมพ์ใบเสร็จรับเงินส่งมอบให้ผู้โดยสาร กรณีดังกล่าวข้างต้น กระเป๋าของผู้โดยสารมิได้เป็นของที่นำไปจากเมืองไทยแล้วนำกลับเข้ามา แต่เป็นของใหม่ที่มีราคาสูงและนำติดตัวเข้ามาในราชอาณาจักร จึงเป็นตามหลักเกณฑ์ที่ต้องชำระค่าภาษีอากร กล่าวคือ ค่าอากรขาเข้า - ปากระวาง 15,400 บาท ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม - ปากระวาง 4,600 บาท รวมทั้งสิ้น 20,000 บาท”







กำลังโหลดความคิดเห็น