xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.เตรียมเจรจา BEM ปรับสัญญา “ศรีรัช-วงแหวนฯ” ทางเชื่อมกับโทลล์เวย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บอร์ด กทพ.เห็นชอบเจรจา BEM ลงทุนทางเชื่อมด่วน “ศรีรัช-วงแหวนฯ กับโทลล์เวย์” วงเงินกว่า 6 หมื่นล้าน โดยถือเป็นโครงการต่อเนื่องจากด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ เตรียมทำหนังสือแจ้ง BEM ก่อน ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป 

พล.อ.วิวรรธน์ สุชาติ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กทพ.เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ได้พิจารณาการดำเนินโครงการทางเชื่อมทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) และทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 2.6 กม. ภายหลังจากที่ประชุมกระทรวงคมนาคมได้ให้ความเห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นส่วนต่อขยายทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนฯ ไม่ใช่โครงการใหม่ บอร์ดจึงมีมติอนุมัติให้ กทพ.ทำหนังสือแจ้ง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งจะมีการออกเอกสารแก้ไขเปลี่ยนแปลง ( VO. variation order) ว่าพร้อมหรือไม่สำหรับดำเนินการก่อสร้างโครงการเชื่อมต่อ
 
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้ BEM รับผิดชอบก่อสร้างฐานรากเสาตอม่อ ส่วนต่อเชื่อมที่อยู่ในพื้นที่ของพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 8 ต้นก่อน ขณะรอการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งจะเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในเดือน พ.ค.นี้ หากได้รับความเห็นชอบจาก สผ.จึงจะเริ่มก่อสร้างส่วนที่เหลือ

รวมถึงให้ กทพ.เตรียมยกร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ซึ่งกระทบบ้านเรือนประชาชนไม่มาก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหน่วยราชการ สำหรับการก่อสร้างให้หน่วยงาน 4 ฝ่าย ได้แก่ กทพ. กรมทางหลวง บริษัท BEM และบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด เจรจาหาข้อยุติแนวทางการก่อสร้าง ค่าใช้จ่าย รวมถึงวิธีการจัดเก็บและแบ่งรายได้

รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการทางเชื่อมดอนเมืองโทลล์เวย์ และทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ ระยะทาง 2.6 กม.ฯ มีมูลค่าลงทุน 6,219 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าก่อสร้างงานโยธาและโครงสร้าง ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และรื้อย้ายสาธารณูปโภค 4,230.5 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยสิ่งปลูกสร้างจำนวน 13 แปลง 1 ไร่ 2 งาน 95 ตารางวา วงเงิน  272.67 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 135 ล้านบาท ค่าบำรุงรักษา 107 ล้านบาท และค่าบริหารโครงการ 1,472 ล้านบาท

เบื้องต้นสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาเห็นว่าควรถือเป็นส่วนต่อเนื่องจากโครงการศรีรัช-วงแหวนฯ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง และให้ กทพ.หารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อสอบถามว่าส่วนดังกล่าวควรเป็นโครงการใหม่หรือโครงการต่อเนื่อง ซึ่งหากถือเป็นโครงการต่อเนื่อง กทพ.จะต้องดำเนินการตามกฎหมายร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) ตามมาตรา 43 เพื่อเจรจากับเอกชนในการแก้ไขปรับปรุงสัญญาเดิม และนำเสนอคณะกรรมการกำกับฯ และเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น