“กรมทางหลวง” เตรียมเรียก “ดอนเมืองโทลล์เวย์” เปิดโต๊ะเจรจาสัญญาสัมปทาน และส่วนแบ่งรายได้ ใหม่ กรณีเชื่อมต่อกับศรีรัช-วงแหวนฯ ของ กทพ. เหตุมีปริมาณจราจรเข้าโครงข่ายเพิ่ม
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงการดำเนินโครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) และทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ว่าเนื่องจากโครงข่ายดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับ ดอนเมืองโทลล์เวย์ ซึ่งเป็นคู่สัญญาสัมปทานของกรมทางหลวง ซึ่งที่ผ่านมา บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด ผู้รับสัมปทานยังไม่มีการประสานใดๆ กับกรมทางหลวง ซึ่งขณะนี้ ได้ให้ฝ่ายกฎหมายเตรียมข้อมูลเพื่อเรียกบริษัทฯ มาเจรจาร่วมกัน
เนื่องจากการเชื่อมต่อดังกล่าวจะมีปริมาณจราจรจากระบบทางด่วนเข้าสู่ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงต้องมีการเจรจาเรื่องส่วนแบ่งรายได้กันใหม่ ขณะที่กรมทางหลวง ไม่ได้รับส่วนแบ่งจากบริษัทฯ ตั้งแต่ปี 2539 เนื่องจากมีข้อพิพาทเรื่องการปรับค่าผ่านทาง การไม่รื้อสะพานข้ามแยก รวมถึงกรณีที่การปิดสนามบินดอนเมือง เมื่อปี 2549 ซึ่งบริษัทระบุว่าทำให้ปริมาณจราจร บนดอนเมืองโทลล์เวย์ลดลง และบริษัทมีรายได้ลดลง เป็นเหตุให้บริษัทเรียกร้องขอขยายสัญญาสัมปทานไปสิ้นสุดปี 2577 ซึ่งปัจจุบันสนามบินดอนเมืองได้เปิดให้บริการตามปกติ ปริมาณจราจรบนดอนเมืองโทลล์เวย์ เพิ่มขึ้น และอนาคตจะมีการเชื่อมต่อกับระบบทางด่วนอีก ปริมาณจราจรจะเพิ่มขึ้นอีก
แหล่งจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เรียกการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กรมทางหลวง หารือกรณีโครงการเชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัชฯ กับดอนเมืองโทลล์เวย์ ขณะนี้ทาง กทพ.เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติสำรองจ่ายเงินจำนวน 200 ล้านบาท สำหรับก่อสร้างเสาตอม่อจำนวน 8 ต้น ในพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งมีแผนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มี.ค. ก่อนเวลาที่ ร.ฟ.ท.จะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต
ปัญหาของโครงการเชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัชฯ กับดอนเมืองโทลล์เวย์ ยังมีเรื่องรายงานผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ยังไม่แล้วเสร็จ และประเด็นว่าส่วนเชื่อมดังกล่าวเป็นโครงการใหม่ หรือส่วนต่อขยาย โดย รมว.คมนาคม ให้ กทพ.หารือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานเลขาคณะรัฐมนตรี เพื่อหาข้อสรุปเรื่องดังกล่าว เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 หากระบุเป็นโครงการใหม่จะต้องดำเนินการตามมาตรา 35 แต่หากให้เป็นโครงการเดิมจะต้องดำเนินการตามมาตรา 43
โดยที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.มีมติเห็นชอบในหลักการของโครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) และทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร โดยวงเงินลงทุนของโครงการ ประมาณ 6,220 ล้านบาท ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร การลงทุนรูปแบบ PPP