xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียวผุดแลมป์เชื่อม 2 ทางด่วน BEM เทงบลงทุน 275 ล้านช่วยแก้จราจร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ครม.ไฟเขียว BEM ลงทุน 275 ล้านสร้างทางเชื่อม ด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ กับด่วนขั้นที่ 2 ระยะทาง 360 ม.เพื่อรับรถขึ้นเหนือ ลดปัญหาจราจรพื้นราบ โดยไม่เก็บค่าผ่านทาง กทพ.เร่งลงนามสัญญาเพิ่มเติมเร็วๆ คาดมีรถใช้ทางเพิ่ม 2,600 คัน ขณะที่ทางเชื่อมศรีรัช-วงแหวนฯ กับโทลล์เวย์เตรียมชง คจร. 29 มิ.ย.นี้เปิด PPP ให้เอกชนลงทุนกว่า 4 พันล้าน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (25 มิ.ย.) มีมติเห็นชอบร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม คือสัญญาสัมปทานการลงทุนออกแบบก่อสร้างบริหารจัดการ ให้บริการและบำรุงรักษา โครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) และร่างสัญญาเพิ่มเติมสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับที่ 2) เพื่อให้มีการก่อสร้างทางเชื่อมต่อทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ มายังทางด่วนขั้นที่ 2 มุ่งหน้าไปทิศทางขึ้นเหนือ (ไปแจ้งวัฒนะ) โดยไม่มีการเก็บค่าผ่านทางเพิ่ม ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ทางได้รับความสะดวก เนื่องจากปัจจุบันมีทางเชื่อมระหว่างทางด่วน 2 สายนี้เฉพาะทิศทางลงใต้ (มุ่งไปพญาไท) ทำให้ผู้ต้องการเดินทางขึ้นเหนือต้องลงสู่ถนนระดับดินที่พระราม 6 ก่อนแล้วค่อยขึ้นทางด่วนใหม่ได้

ทั้งนี้ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM จะเป็นผู้ลงทุนออกแบบก่อสร้าง ติดตั้งระบบไฟฟ้าและระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระยะทาง 360 เมตร (3,150 ตรม.) วงเงินค่าก่อสร้าง 275 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน แบ่งเป็นค่าก่อสร้างโครงสร้างที่เชื่อมต่อระหว่างทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ กับทางด่วนขั้นที่ 2 วงเงิน 155 ล้านบาท ซึ่ง BEM จะรับผิดชอบ อีก 120 ล้านบาทจะเป็นค่าก่อสร้างโครงสร้างทางเชื่อมระหว่างทางด่วนศรีรัช-วงแหวนกับทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ซึ่งโครงสร้างบางส่วนทับซ้อนในพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ จำเป็นต้องก่อสร้างไปพร้อมกัน ซึ่ง BEM จะออกค่าก่อสร้างไปก่อน และเคลมจากผู้ลงทุนทางเชื่อมดังกล่าวภายหลัง

โดยจากการประเมินพบว่าทางเชื่อมจะทำให้ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ มีปริมาณจราจรเพิ่มขึ้น 2,600 คัน/วัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 5 หมื่นคัน/วัน ซึ่งทรัพย์สินโครงสร้างจะต้องโอนให้ กทพ. และรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะคำนวณเพิ่มเป็นส่วนแบ่งค่าผ่านทางในสัญญาต่อไป คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มประมาณ 1.77% ทั้งนี้ กทพ.ได้ดำเนินการตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 โดยร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม 2 ฉบับ และผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 และคณะกรรมการกำกับดูแลทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ รวมถึงผ่านการพิจารณาจากอัยการสูงสุดแล้ว คาดว่าจะลงนามสัญญาเพิ่มเติมได้เร็วๆ นี้

สำหรับโครงสร้างเชื่อมต่อระหว่างทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ กับดอนเมืองโทลล์เวย์ (Missing Link) นั้น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษา ความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม การเงิน ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม คือ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) ซึ่งจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในวันที่ 29 มิ.ย.นี้

โดยทางเชื่อม Missing Link มีระยะทางประมาณ 2.7 กม. มีรูปแบบเป็นทางยกระดับทิศทางละ 2 ช่องจราจร จุดเริ่มต้นจากทางยกระดับอุตราภิมุขบริเวณต่างระดับรัชวิภา ไปตามแนวถนนกำแพงเพชร 2 ข้ามทางพิเศษศรีรัช และทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ข้ามคลองเปรมประชากรไปเชื่อมเข้ากับทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนฯ ระยะทางขาเข้า 1.4 กม. และขาออก 2.3 กม.ค่าก่อสร้าง 4,230.5 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 272.67 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น