xs
xsm
sm
md
lg

สนข.ศึกษาเก็บค่าผ่านแดนรถข้ามประเทศ เล็งตั้งกองทุนลดงบซ่อมทางหลวงอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
สนข.เสนอแนวทางจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าประเทศและใช้ทางหลวง จ้างศึกษาสำรวจและรับฟังความเห็นก่อนสรุปเสนอรัฐบาลปลายปีนี้ เผยปริมาณการค้าชายแดน 1 ล้านล้าน/ปี รถต่างประเทศเข้าออก 6 ล้านคัน/ปี เล็งตั้งกองทุนนำรายได้ช่วยซ่อมบำรุงถนนลดปัญหาจราจร ดันไทยศูนย์กลางอาเซียนอย่างยั่งยืน

นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อแนะนำโครงการและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ครั้งที่ 1) โครงการศึกษาการจัดเก็บค่าผ่านทางรองรับการขนส่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ว่า ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-2564) กำหนดยุทธศาสตร์ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้า ลอจิสติกส์การขนส่งทางถนน ซึ่งจะส่งผลให้มีการขนส่งข้ามชายแดนเพิ่มมากขึ้น เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยวและเกิดการเชื่อมโยง (Connectivity) ขณะเดียวกัน จะเกิดผลกระทบเรื่องทางหลวงชำรุดเสียหายซึ่งต้องใช้งบซ่อมบำรุงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท/ปี เกิดปัญหาจราจรและอุบัติเหตุ สูญเสียงบเยียวยาประมาณ 2,473 ล้านบาท/ปี และปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ใช้งบฟื้นฟูประมาณ 250 ล้านบาท/ปี

ทั้งนี้ สนข.จึงได้ศึกษาการจัดเก็บค่าผ่านทางขึ้น โดยจะมีการสำรวจวิเคราะห์ปัญหาในปัจจุบัน ปริมาณรถข้ามพรมแดน, ศึกษารูปแบบการจัดเก็บ, วิเคราะห์แนวทางการจัดเก็บและวิธีการคำนวณรวมถึงทำแผนปฏิบัติการ ซึ่งพื้นที่จัดสัมมนาในระดับภูมิภาค 5 แห่ง ได้แก่ แม่สาย จ.เชียงราย, แม่สอด จ.ตาก, จ.หนองคาย, อรัญประเทศ จ.สระแก้ว, จ.สงขลา โดยมีระยะเวลาศึกษา 8 เดือน (พ.ค. 60-ธ.ค. 60) วงเงิน 15 ล้านบาท เพื่อนำเสนอโครงการและรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปผลศึกษาฉบับสมบูรณ์ และนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป

โดยในการศึกษาจะนำข้อมูลของประเทศที่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางมาเปรียบเทียบด้วย เช่น สหรัฐอเมริกา-แคนาดา, สวิตเซอร์แลนด์-ออสเตรีย ส่วนในอาเซียนมีประเทศสิงคโปร์-มาเลเซีย ขณะที่มาเลเซียมีแนวคิดในการจัดเก็บค่าผ่านทางกับไทยที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งขณะนี้ยังเลื่อนแผนจากที่จะเริ่มในช่วงกลางปีนี้ออกไปก่อน เนื่องจากการจัดเก็บค่าผ่านทางนั้นจะต้องศึกษาหลายปัจจัยอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจ ซึ่งกว่าที่มาเลเซียจะเริ่มจัดเก็บค่าผ่านทางยานพาหนะเดินทางของคนกับสิงคโปร์นั้นใช้เวลาศึกษาและประเมินกว่า 2 ปี

ซึ่งการศึกษาเพื่อสรุปว่าไทยควรมีระบบจัดเก็บค่าผ่านทางหรือไม่ หากมีจะจัดเก็บแบบใด ส่วนจะเริ่มที่ด่านใดบ้างจะพิจารณาในเรื่องปริมาณการค้า, ปริมาณการเดินทางประกอบกัน และพิจารณาในเรื่องกฎระเบียบที่ต้องแก้ไขให้รองรับต้นทุนของผู้ประกอบการขนส่งด้วย โดยรูปแบบการบริหารจัดการรายได้ค่าผ่านทางนั้นมี 3 แนวทาง คือ จัดเก็บโดยหน่วยงานรัฐและส่งรายได้เข้ากองทุน, ตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาบริหารจัดการ, ให้เอกชนดำเนินการแทนรัฐ และแบ่งการพัฒนาเป็น 3 ระยะ 1. ระยะสั้น 1 ปี เป็นการออกกฎระเบียบข้อบังคับ, ระยะกลาง 3 ปี ทบทวนข้อกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พัฒนาเทคโนโลยีและเพิ่มบทบาทเอกชน, ระยะยาว 5 ปี พัฒนาระบบงานที่ต่อเนื่อง, ปรับค่าผ่านทางให้เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ไทยมีด่านถาวร 29 ด่าน จุดผ่อนปรนอีก 55 แห่ง มีมูลค่าการค้าชายแดนรวม 1.2 ล้านล้านบาท/ปี มียานพาหนะผ่านเข้าออกทุกด่านประมาณ 6 ล้านคัน/ปี ซึ่งเมื่อเปิด AEC ทำให้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการเก็บค่าผ่านทางนี้จะช่วยเปลี่ยนรูปแบบจากถนนไปสู่รางมากขึ้นซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าในอนาคต

สำหรับปัจจัยในการคำนวณค่าธรรมเนียมบำรุงรักษาถนนประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ต้นทุนในการบำรุงรักษาค่าผ่านทาง ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม และต้นทุนด้านอุบัติเหตุ ซึ่งได้มีการศึกษาถึงแนวทางเลือกของระบบจัดเก็บค่าผ่านทางโดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. ระบบเก็บค่าผ่านทางแบบใช้พนักงาน (Manual Toll Collector System) 2. ระบบเก็บค่าผ่านทางแบบอัตโนมัติ (Automatic Toll Collector System) 3. ระบบเก็บค่าผ่านทางแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Toll Collection System)

นอกจากนี้ ยังนำเอาเทคโนโลยีด้านการจราจรอันทันสมัยมาใช้ในการดำเนินงาน เพื่อให้การติดตามตรวจสอบยานพาหนะและดูแลรถขนส่งที่ข้ามพรมแดนมาสู่ประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบ GPS Tracking System ระบบ CCTV เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น