ครม.อนุมัติทางด่วน “พระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯ 31,244 ล้าน พร้อมเร่งสปีดตั้งกองทุน TFF ระดมค่าก่อสร้างตามแผน กทพ. คาดเปิดประมูล ก.ย.-ต.ค. 60 เริ่มก่อสร้างปลายปี เปิดบริการ มี.ค. 64 เก็บค่าผ่านทาง 2 ช่วง ช่วงละ 30 บาท “พิชิต” ยันคลังดูแลความเสี่ยง ตั้งกองทุน TFF ไม่ให้กระทบต่อองค์กรและพนักงานแน่นอน
นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (6 มิ.ย.) ได้มีมติอนุมัติให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. วงเงินลงทุนรวม 31,244 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าก่อสร้าง 30,437 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 807 ล้านบาท โดยให้ กทพ.ใช้แหล่งเงินลงทุนโครงการจากการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) โดยให้กระทรวงการคลังดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2560 ในการระดมทุนผ่าน TFF ขณะที่รัฐบาลอุดหนุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมด และอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่จะเวนคืนในเขตราษฎร์บูรณะ พ.ศ...
ทั้งนี้ โครงการได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2559 พร้อมที่จะดำเนินการ โดยตามแผนงานจะออก พ.ร.ฎ.เวนคืนภายในปี 2560 ใช้ระยะเวลาเวนคืน 18 เดือน (ก.ย. 2560-ก.พ. 2560) โดย กทพ.จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนเวนคืนและจัดทำทีโออาร์ประมูลเพื่อนำเสนอบอร์ด กทพ.ขออนุมัติเปิดประมูลก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงเดือน ก.ย.- ต.ค. 2560 ระยะเวลาก่อสร้าง 39 เดือน (ธ.ค. 2560-ก.พ. 2564) กำหนดเปิดให้บริการในเดือน มี.ค. 2564
สำหรับผลการวิเคราะห์ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (FIRR) ที่ 19.84% ส่วนผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ที่ 3.35% ด้านการจัดเก็บค่าผ่านทางจะแบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงวงแหวนรอบนอก-ดาวคะนอง และช่วงดาวคะนอง-พระราม 3 โดยอัตราค่าผ่านทางแต่ละช่วงเท่ากัน ได้แก่ รถ 4 ล้อเล็ก อัตรา 30 บาท, รถ 6 ล้อ-10 ล้อ อัตรา 60 บาท, รถมากกว่า 10 ล้อขึ้นไป อัตรา 90 บาท หากใช้บริการตลอดสายตั้งแต่ พระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก จะเสียค่าผ่านทางรวม 60 บาทสำหรับรถ 4 ล้อ เป็นต้น โดยจะมีการปรับขึ้นค่าผ่านทางทุก 5 ปี ในอัตรา 5 บาท และประเมินปริมาณจราจรในปีที่เปิดให้บริการอยู่ที่ 1 แสนคัน/วัน
นายพิชิตกล่าวว่า ในการระดมทุนจากกองทุน TFF มีเป้าหมายมูลค่ากองทุนที่ 44,819 ล้านบาท โดยจะนำมาใช้ในการก่อสร้างทางด่วน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯ จำนวน 30,437 ล้านบาท และก่อสร้างโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 วงเงิน 14,328 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นทางกระทรวงการคลังได้จัดสรรเงินลงมาก่อน 10,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ กทพ.จะนำรายได้จากค่าผ่านทางสัดส่วน 45% ของทางด่วนบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) และทางด่วนสายรามอินทรา-อาจณรงค์ มาใส่เข้ากองทุน
ขณะที่ความต้องการใช้เงินจากกองทุนเพื่อนำไปจ่ายค่าก่อสร้าง ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนองฯ นั้นจะแบ่งเป็นงวดๆ รวม 4 งวด คือ ปี 61 จำนวน 6,032 ล้านบาท ปี 62 จำนวน 9,062 ล้านบาท ปี 63 จำนวน 11,484 ล้านบาท ปี 64 จำนวน 4,660 ล้านบาท ซึ่งเป็นการทยอยใช้เงิน ซึ่งจะต้องจัดสรรการระดมเงินให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ในแต่ละช่วงเพื่อไม่ให้มีต้นทุนทางการเงินมากเกินไป ขณะเดียวกัน กทพ.เสนอที่จะใช้เงินในประเทศไปก่อน หากในช่วงแรกการระดมทุนผ่านกองทุน TFF ไม่ทันกับการจ่ายค่าก่อสร้าง
สำหรับทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯ นั้นเป็นโครงการที่จะแก้ปัญหาจราจรบนถนนพระราม 2 ช่วงดาวคะนอง-วงแหวนฯ และทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงบางโคล่-ดาวคะนอง และสะพานพระราม 9 และเป็นเส้นทางทดแทนกรณีที่ต้องปิดสะพานพระราม 9 ซ่อมบำรุงใหญ่หลังจากใช้งานมานานกว่า 30 ปี
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังจะต้องบริหารจัดการเพื่อให้ไม่กระทบต่อรายได้ของ กทพ. และกระแสเงินสด รวมถึงไม่กระทบต่อโบนัสของพนักงาน ซึ่งจะต้องประเมินความเสี่ยงขององค์กรในการออกกองทุนด้วย ซึ่งการระดมทุนจากกองทุน TFF มาก่อสร้างเป็นผลดีในระยะยาวที่จะเกิดความยุติธรรมในการใช้จ่ายงบประมาณ และให้ผู้ใช้บริการเป็นผู้จ่ายค่าบริการโดยตรง แทนที่จะนำเอาภาษีของคนทั้งประเทศมาจ่ายให้เช่นในปัจจุบัน
โครงการทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อกับโครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) และมีทางขึ้น-ลงที่จุดเริ่มต้นโครงการบริเวณ กม.ที่ 13+000 ของถนนพระราม 2 เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ทิศทางละ 3 ช่องจราจร) ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระราม 2 มาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จนถึงด่านเก็บค่าผ่านทางดาวคะนอง จากนั้นซ้อนทับบนทางด่วนขั้นที่ 1 จนถึงทางด่วนศรีรัช ช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งก่อสร้างเป็นสะพานใหม่ขนาด 8 ช่องจราจร (ทิศทางละ 4 ช่องจราจร) ขนานอยู่ทางทิศใต้ของสะพานพระราม 9