xs
xsm
sm
md
lg

ที่จอดรถสายสีส้ม สถานีศูนย์วัฒน์ฯ ยังไม่จบ บอร์ด รฟม.ตีกลับแผนยกเลิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รักษาการแทน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
บอร์ด รฟม.ตีกลับแผนยกเลิกที่จอดรถสายสีส้ม สถานีศูนย์วัฒน์ฯ ซึ่ง รฟม.ขอย้ายไปใช้ที่สถานี รฟม.เพื่อลดปัญหาเวนคืนที่กลางเมืองราคาสูง สั่ง รฟม.วิเคราะห์ผลกระทบข้อดีข้อเสียใหม่ ขณะที่อนุมัติจ้างที่ปรึกษา 3 สัญญาควบคุมงานก่อสร้างสายสีส้มตะวันออก วงเงินรวม 2,617 ล้าน พร้อมคาดชงสีม่วงใต้เข้า ครม.ได้ใน มิ.ย.นี้

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ที่มี พลเอก ยอดยุทธ บุญญาธิการ วันที่ 5 มิ.ย. ที่ประชุมไม่อนุมัติตามที่ รฟม.เสนอเรื่องขอยกเลิกที่จอดรถของสายสีส้มบริเวณสถานีร่วมศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยจะย้ายไปก่อสร้างที่สถานี รฟม.แทนเพื่อลดผลกระทบการเวนคืนและลดค่าเวนคืนลงได้กว่า 2,000 ล้านบาทนั้นบอร์ดยังไม่เห็นด้วย โดยให้ รฟม.ไปทำรายละเอียดเพิ่มเติม ศึกษา วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสียในแนวทางเลือกต่างๆ เหตุผลความจำเป็นในการย้าย นอกเหนือจากการประหยัดค่าเวนคืน รวมถึงสำรวจความคิดเห็นของประชาชน กรณีย้ายที่จอดรถมาที่สถานี รฟม. และนำเสนอบอร์ด รฟม.ในการประชุมครั้งต่อไปเพื่อตัดสินใจอีกครั้ง

“เนื่องจากที่จอดรถบริเวณสถานีร่วมศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยได้มีการกำหนดไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งมีวัตถุประสงค์ชัดเจนเพื่ออำนวยความสะดวกโดยสามารถรองรับรถประมาณ 1,000 คัน และก่อนหน้านี้ได้ปรับรูปแบบจากลานจอดรถ ที่ใช้เนื้อที่ประมาณ 10ไร่ มาเป็นอาคารจอดรถ ซึ่งจะใช้พื้นที่ลดลง ลดการเวนคืนได้ระดับหนึ่ง” นายธีระพันธ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มี 3 แนวทางที่ รฟม.จะวิเคราะห์ผลกระทบข้อดี/ข้อเสีย คือ 1. คงเป็นลานจอดรถเหมือนเดิม ที่สถานีร่วมศูนย์วัฒนธรรมฯ ใช้พื้นที่รวม 10 ไร่ 2. อยู่ที่สถานีร่วมศูนย์วัฒนธรรมฯ ปรับเป็นอาคารจอดรถ ก่อสร้างแนวสูง เพื่อลดการเวนคืน 3. ย้ายไปที่สถานี รฟม. ก่อสร้างเป็นลานจอดรถ ทั้งนี้ การก่อสร้างที่จอดรถดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างโครงการโดยรวม

***อนุมัติจ้างที่ปรึกษา 3 สัญญา ควบคุมงานก่อสร้างสายสีส้ม วงเงินรวม 2,617 ล้าน

ทั้งนี้ ที่ประชุมบอร์ดได้มีมติอนุมัติให้ รฟม.ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อกำกับควบคุมงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จำนวน 3 สัญญา ได้แก่ ว่าจ้างกลุ่มบริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัด (MHPM) เป็นที่ปรึกษากำกับการดำเนินงานโครงการ (Project Implementation Consultant : PIC) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในวงเงิน 458 ล้านบาท

ว่าจ้างบริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ เป็นที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้างงานโยธา 1 (Project Management and Construction Supervisor Consultant : PMCSC1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในวงเงิน 977 ล้านบาท โดยควบคุมการก่อสร้างงานโยธาสัญญาที่ 1, 4, 5 และว่าจ้าง บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ (MAA) เป็นที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้างงานโยธา 2 (PMCSC2) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในวงเงิน 1,182 ล้านบาท โดยควบคุมการก่อสร้างงานโยธาสัญญาที่ 2, 3, 6

ทั้งนี้ รฟม.จะเร่งลงนามสัญญากับทั้ง 3 บริษัทที่ปรึกษาโดยเร็วเพื่อเข้าทำงานให้ทันกับผู้รับจ้างทั้ง 6 สัญญาที่ได้ลงนามสัญญาและเริ่มทำงานไปก่อนหน้าแล้ว

นอกจากนี้ บอร์ดยังเห็นชอบร่างทีโออาร์ประกวดราคาคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษา ควบคุมงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี หลังจากที่การประมูลครั้งแรกมีผู้ยื่นซองเพียงรายเดียวจึงต้องยกเลิกไป โดยหลังจากนี้ รฟม.จะเร่งประกาศเชิญชวนใหม่ และแยกจ้าง

** คาดเสนอสายสีม่วงใต้เข้า ครม.ได้ใน มิ.ย.นี้

สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. คาดว่าภายในเดือน มิ.ย.นี้จะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ และคาดว่าจะเปิดประมูลได้ช่วงปลายปี ส่วนสายสีส้ม ด้านตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 16.4 กม. อยู่ระหว่างเสนอบอร์ดสภาพัฒน์ ซึ่งทั้งสายสีม่วงใต้ และสีน้ำเงินต่อขยายนี้ รฟม.จะเสนอขออนุมัติก่อสร้างงานโยธาก่อน ส่วนการเดินรถจะเสนอผลศึกษา PPP ตามไปภายหลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น