ปัญหาของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ (โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง) ในขณะนี้ต้องบอกว่าเข้าขั้นโคม่า ต้องได้รับการผ่าตัดใหญ่โดยด่วน แต่ทว่า ช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมาฝ่ายนโยบาย รัฐบาลกลับไม่มีท่าทีในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ปล่อยปัญหาคาราคาซังจนอาการย่ำแย่ และเข้าขั้นวิกฤตในปัจจุบัน
ทุกเช้า...ทุกเย็น ผู้โดยสาร ต้องลุ้นกันตัวโก่ง ...อดทนเสียเวลาต่อแถว รอใช้บริการ เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้าว่า เมื่อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ขบวนต่อไปเทียบชานชลาแล้วจะสามารถยัดตัวเองเข้าไปภายในขบวนรถได้หรือไม่ แต่นั่น! ยังไม่ลุ้นเท่ากับว่า รถจะเสียเมื่อไหร่ เพราะหมายถึงวันนั้นไปทำงานสายแน่นอน...
ตามแผนรองรับการเติบโตของผู้โดยสาร จึงมีโครงการจัดซื้อรถไฟฟ้าธรรมดา (City Line) จำนวน 7 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ (รวม 28 ตู้) วงเงินกว่า 4,413 ล้านบาท เปิดประมูลตั้งแต่เมื่อเดือน ก.ค. 2558 แต่ต้องยกเลิกประมูล เนื่องจากมีข้อครหาเรื่องการล็อคสเปก และถูกเอกชนที่ยื่นประมูลฟ้องร้อง...ขณะที่โครงการซื้อรถใหญ่ ถูกเบรคยาว รอผู้บริหารรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน
ข้อมูลจากบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ระบถึงสถิติผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ในปัจจุบันว่า เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในวันจันทร์-วันศุกร์ มีผู้ใช้บริการสูง 70,000-80,000 คนต่อวัน ส่วนในวันหยุด (วันเสาร์-วันอาทิตย์) มีผู้ใช้บริการ 50,000 คนต่อวัน
ทุกวันจะเห็นภาพผู้โดยสารล้นสถานี ขณะที่พนักงานต้องกั้นผู้โดยสารไว้ที่ชั้นขายตั๋ว แต่หากมีจำนวนมาก บางวันถึงขั้นต้องต่อแถวยาวไปถึงชั้นล่างพื้นถนนกันเลย เนื่องจากไม่สามารถให้ผู้ใช้บริการที่มีจำนวนมาก ขึ้นไปยังชานชลาได้ทั้งหมดเพราะอาจจะมีการผลักดันกันจนตกลงไปในรางได้ เพราะไม่มีประตูกั้นชานชาลา...ซึ่งเมื่อปี 2560 ได้เกิดเหตุผู้โดยสารหญิงพลัดตกลงไปในรางจนเสียชีวิตเป็นอุบัติเหตุครั้งใหญ่มาแล้ว
งานซ่อมบำรุงใหญ่ ล่าช้ากว่าสัญญา
“ไพรินทร์ ชูโชตถาวร” รมช.คมนาคมในฐานะผู้กำกับดูแลแอร์พอร์ตลิงก์ โชว์นโยบายแรกในการแก้ปัญหา คือ สั่งขยายเวลาเปิดบริการให้เร็วขึ้นกว่าเดิมจากที่เปิดให้บริการเวลา 06.00-24.00 น. เป็น 05.30-24.00 น. แต่ดูเหมือนแทบจะไม่ช่วยอะไรเลย เพราะผู้โดยสารยังแน่นเหมือนเดิม และที่ยิ่งทำให้สถานการณ์ แอร์พอร์ตลิงก์เลวร้ายหนักเข้าไปอีก คือ รถเสีย มี 9 ขบวน วิ่งได้ 5 แต่บางวันเหลือ 4 ขบวน
ขณะที่ปัจจุบันแอร์พอร์ตลิงก์อยู่ระหว่างซ่อมบำรุงใหญ่ตามวาระของระบบขบวนรถไฟฟ้า (Overhaul) รถ 9 ขบวน สัญญากำหนดเสร็จภายใน 510 วัน หรือ 17 เดือน หลังจากเซ็นสัญญาเมื่อตุลาคม 2559 ซึ่งต้องส่งงาน 9 ขบวน ภายในเดือน มีนาคม 2561 แต่ถึงวันนี้ ...ยังซ่อมขบวนที่ 7 ไม่เสร็จ ..เกินระยะเวลาในสัญญาแล้ว ...โดยผู้บริหารแอร์พอร์ตลิงก์ ชี้แจงว่า การซ่อมบำรุงจะเสร็จทั้ง 9 ขบวนปลายปี 2561
ผู้โดยสารรุมสวด กระแสโซเชียลฯ ด่ายับ บริการห่วย! ทำให้ “รมช.ไพรินทร์” ต้องไปตรวจเยี่ยมที่ศูนย์ซ่อมบำรุง แอร์พอร์ตลิงก์เป็นครั้งที่2 ท่ามกลางเสียงเชียร์ขอเร่งซื้อรถใหม่ หรือเช่ารถ ขณะที่ รมช.ไพรินทร์ย้ำว่า “หากแอร์พอร์ตลิงก์มีรถววิ่งได้ ครบ 9 ขบวน สามารถรองรับผู้โดยสารที่มีนตอนนี้ได้ไม่มีปัญหา ส่วนการเช่ารถหรือซื้อไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะหากระบบการซ่อมบำรุงของบริษัท ยังไม่มั่นคง การนำรถเข้ามาเพิ่มไม่ว่าเช่าหรือซื้อ จะต้องเจอปัญหาเดิมๆ อยู่ ดังนั้นเรื่องสำคัญของแอร์พอร์ตลิงก์ตอนนี้คือ บริหารจัดการและแก้ปัญหาระบบซ่อมบำรุงให้ดีก่อน”
หวังผู้บริหาร 3 สนามบิน กู้ซากแอร์พอร์ตลิงก์
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ผู้บริหารรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง- สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) จะได้เป็นผู้บริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งจุดแข็งของแอร์พอร์ตลิงก์คือ มีผู้โดยสารจำนวนมากและเป็นลูกค้าขาประจำอยู่แล้วชัดเจน จะเป็นตัวสร้างรายได้หลักมากกว่ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ต้องใ้ช้เวลาอีกนานในการสร้างผู้โดยสาร ดังนั้น เชื่อว่าการบริหารของเอกชนที่มีความคล่องตัว สามารถซื้อรถ ซื้ออะไหล่โดยไม่ต้องกลัวถูกสอบ ไม่ต้องขออนุมัติหลายขั้นตอน จะเห็นแอร์พอร์ตลิงก์...ในภาพลักษณ์ใหม่แน่นอน โดยเอกชนจะต้องควักเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อจ่ายค่าระบบอาณัติสัญญาณ ..ที่จะรับโอนไปบริการ 50 ปี ขณะที่รอผู้บริหาร 3 สนามบินรับโอนแอร์พอร์ตลิงก์นั้น ผู้บริหารแอร์พอร์ตลิงก์จะต้องประคับประคองการให้บริการ เร่งซ่อมรถให้เสร็จเร็วที่สุด
ร้องทุจริตจัดซื้อฯ หน้าที่ผู้บริหารต้องชี้แจงข้อเท็จจริง
ช่วงที่ผ่านมาผู้บริหารแอร์พอร์ตลิงก์ ถูกร้องเรียน การประมูลหลายโครงการที่ถูกระบุว่าไม่โปร่งใส ไปยังหลายหน่วยงาน ทั้ง สตง. และกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เช่น การจ้างเหมางานซ่อมบำรุงรักษาระบบอาณัติสัญญาณ (Signalling System),การจัดหาและติดตั้งระบบประตูกั้นชานชาลาแบบสูงครึ่งบาน 7 สถานี รวม 14 ชานชาลา วงเงิน 200 ล้านบาท, การจัดซื้อผ้าเบรกของรถไฟฟ้าจำนวน 1, 200 ชุด
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ฝ่ายนโยบายรับทราบเรื่องดังกล่าวซึ่งได้รับรายงานว่าได้ส่งเอกสารชี้แจงไปยัง สตง.แล้ว ส่วน ปปป.นั้น เนื่องจากการขอเอกสารมานั้น ไม่ได้ระบุการใช้อำนาจหรือระเบียบข้อกฎหมายใด ผู้บริหารแอร์พอร์ตลิงก์ จึงได้ทำหนังสือถึง ผบ.ตร.เพื่อสอบถามความชัดเจน
อย่างไรก็ตาม หลักการเมื่อมีร้องเรียน และมีการตรวจสอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ผู้ถูกร้องมีหน้าที่ชี้แจงข้อเท็จจริง ขณะนี้ยังถือว่าไม่มีความผิดใดๆ เพราะเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริง ยังไม่ชี้มูล ทุกคนก็ทำงานกันต่อไป แต่หากพบว่ามีมูลตามที่ถูกร้อง กระทรวงคมนาคมจะพิจารณาตามขั้นตอน ส่วนผู้บริหารก็ต้องรับผิดชอบสิ่งที่ทำไว้