ครม.ผ่านฉลุย ลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สัมปทาน 50 ปี รัฐร่วมลงทุนเอกชน วงเงินไม่เกิน 1.19 แสนล้าน พ่วงพัฒนาที่ดินมักกะสัน 150 ไร่ สถานีศรีราชา 25 ไร่ ร.ฟ.ท.เร่งเคาะ TOR ประกาศเชิญชวนก่อนสงกรานต์
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 27 มี.ค. มีมติอนุมัติโครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร (กม.) โดยอนุมัติกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชนวงเงินไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาท ที่เป็นมูลค่าปัจจุบันตามที่ตกลงในสัญญาร่วมลงทุน โดยทยอยจ่ายให้เอกชนหลักจากเริ่มเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงทั้งระบบแล้ว และแบ่งจ่ายเป็นรายปี โดยกำหนดระยะเวลาแบ่งจ่ายไม่ต่ำกว่า 10 ปี และอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีอำนาจร่วมลงทุนกับเอกชนที่ได้รับคัดเลือก
และอนุมัติค่างานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ในกรอบวงเงินจำนวน 3,570.29 ล้านบาท และเห็นชอบให้รัฐบาลรับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐานของโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ของ ร.ฟ.ท.เป็นจำนวนเงิน 22,558.06 ล้านบาท
รูปแบบลงทุนรัฐและเอกชนลงทุนร่วมกัน (PPP) ภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนค่ากรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนเอกชนลงทุนด้านงานโยธา ประเภท PPP Net Cost โดยเอกชน 1 ราย รับงานโครงการไปทั้ง 100% (ก่อสร้างและเดินรถ) อายุสัมปทาน 50 ปี เอกชนจะเป็นผู้บริหาร จัดเก็บรายได้ และแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐ ขณะที่รัฐจะช่วยอุดหนุนโครงการไม่เกินมูลค่างานโยธาที่ 1.6 แสนล้านบาท ทั้งนี้เมื่อครบสัมปทาน 50 ปีแล้วจะไม่มีการต่อสัญญาอีก โครงการก็จะโอนคืนสู่รัฐ
สำหรับขอบเขตของโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1. ส่วนของระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นระบบขนส่งทางรถไฟขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร รวมระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ด้วยบริการรถไฟแบบด่วนพิเศษจอดบางสถานี และใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 40 นาที ด้วยบริการรถไฟแบบปกติจอดทุกสถานี ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารประมาณ 147,000 คนต่อวัน ในปีที่เปิดให้บริการ (ปี 2566) ซึ่งส่วนของระบบขนส่งทางรถไฟดังกล่าว ประกอบด้วย
โครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์เดิม ช่วงพญาไทถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 8 สถานี ใช้ความเร็วรถไฟในเมืองสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
โครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ส่วนต่อขยายช่วงท่าอากาศยานดอนเมืองถึงพญาไท จำนวน 2 สถานี ใช้ความเร็วรถไฟในเมืองสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ ถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา จำนวน 5 สถานี คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และอู่ตะเภา ค่าโดยสารสูงสุด 330 บาทใช้ความเร็วรถไฟระหว่างเมือง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ซ่อมบำรุงคลองตัน [ศูนย์ซ่อมบำรุงที่มีอยู่ในปัจจุบัน ภายใต้โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (Suvarnabhumi Airport Rail Link and City Air Terminal : ARL)] และศูนย์ซ่อมบำรุงในบริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา (ศูนย์ซ่อมบำรุงแห่งใหม่)
สำหรับการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟและบริการผู้โดยสารและการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ ประกอบด้วย 1. บริเวณสถานีแอร์พอร์ต เรลลิงก์ มักกะสัน ขนาดพื้นที่รวมประมาณ 150 ไร่ เป็นสถานีศูนย์กลางการเดินทางเชื่อมโยงกรุงเทพมหานครกับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Main Station for EEC Gateway) โดยพื้นที่ดังกล่าวติดกับบริเวณโดยรอบ ดังนี้ ด้านทิศเหนือติดกับถนนจตุรทิศ ด้านทิศตะวันออกติดกับถนนอโศกมนตรี ด้านทิศใต้ติดกับถนนกำแพงเพชร 7 และด้านทิศตะวันตกติดกับที่ดิน ร.ฟ.ท. ในส่วนศูนย์ซ่อมบำรุงของ ร.ฟ.ท. ทั้งนี้ รูปแบบการพัฒนาที่ดินดังกล่าวจะเป็นลักษณะการเช่าซึ่งมีกำหนดระยะเวลาการเช่าเท่ากับ 50 ปี ไม่เกินกว่าระยะเวลาของโครงการ
2. บริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูง ศรีราชา ขนาดพื้นที่ประมาณ 25 ไร่ เป็นที่ดินว่างเปล่าของ ร.ฟ.ท. โดยพื้นที่ดังกล่าวติดกับบริเวณโดยรอบ ดังนี้ ด้านทิศเหนือติดกับทางหลวง 3241 ที่เชื่อมต่อ เข้ากับตัวเมืองของอำเภอศรีราชา ด้านทิศตะวันออกติดกับที่ดินเอกชน ด้านทิศใต้ติดกับถนนศรีราชา-หนองยายบู่ และด้านทิศตะวันตกติดกับที่ดินเอกชน ทั้งนี้ รูปแบบการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นลักษณะการเช่าซึ่งมีกำหนดระยะเวลาการเช่าเท่ากับ 50 ปี ซึ่งไม่เกินกว่าระยะเวลาของโครงการ
ส่วนระยะเวลาโครงการที่เหมาะสม คือ 50 ปี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับภาครัฐและประหยัดงบประมาณ แบ่งเป็น 1. ระยะการพัฒนาโครงการฯ ได้แก่ งานการออกแบบและงานการก่อสร้าง เป็นระยะเวลา 5 ปี 2. ระยะการดำเนินงานของโครงการและงานการบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 45 ปี ทั้งนี้ เงื่อนไขรายละเอียดเกี่ยวกับการเริ่มต้นและการสิ้นสุดการนับระยะเวลาดังกล่าว เป็นไปตามที่ ร.ฟ.ท.และเอกชนตกลงกัน
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการจัดทำ TOR โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินคืบหน้าแล้ว 90% ซึ่งหลังจากที่ครม.มีมติเห็นชอบโครงการ ทางคณะกรรมการร่าง TOR ที่มีตนเป็นประธานจะประชุมเพื่อปรับเงื่อนไข TOR ให้สอดคล้องกันกับรายละเอียดโครงการที่ ครม.เห็นชอบ ซึ่งร่าง TOR จะแล้วเสร็จภายในต้นเดือน เม.ย. และจะออกประกาศเชิญชวนเอกชนได้ก่อนเทศกาลสงกรานต์
โดยขณะนี้มีเงื่อนไขที่ยังไม่สรุป เช่น สัดส่วนของต่างชาติที่จะเข้ามาร่วมลงทุนว่าควรจะไม่เกิน 49% ไทย 51% หรือจะให้ต่างชาติเกิน 50% ได้เสนอให้คณะกรรมการ นโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตัดสินใจ และประเด็นกรณีที่อาจจะมีบริษัทจีนยื่นประมูลใน 2 กลุ่มซึ่งอาจจะเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากบริษัทจีนส่วนใหญ่มีรัฐบาลจีนเป็นผู้ถือหุ้นด้วย ดังนั้น หากมีบริษัทจีน 2 บริษัท แยกประมูลกันคนละกลุ่มจะเกิดปัญหา เพราะมีรัฐบาลจีนถือหุ้นเหมือนกัน เข้าข่ายเป็นการถือหุ้นไขว้และมีประโยชน์ทับซ้อนกันของ 2 กลุ่ม ได้เสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาจะมีการประชุมภายในสัปดาห์นี้