“พิชิต” สั่งเร่งแยก ”แอร์พอร์ตลิงก์” ออกจาก ร.ฟ.ท. ปรับรูปแบบเป็น PPP-Net Cost เพื่อความคล่องตัว โดย ร.ฟ.ท.ถือหุ้น 100% แต่ให้เช่าใช้ราง พร้อมเร่งซื้อรถใหม่7 ขบวนในปีนี้ เพิ่มขีดรองรับผู้โดยสารเป็น 1.3 แสนคน/วัน เผยโมเดลจ้างบริหาร ทำขาดทุนปีละ 300 ล้าน ต้องปรับธุรกิจเพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์ใหม่ ส่วน CEO ต้องสรรหาจบใน 2 เดือน
นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายให้แก่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ว่าขณะนี้แอร์พอร์ตเรลลิงก์ยังประสบปัญหาการขาดทุนเฉลี่ยปีละ 300 ล้านบาท และยังมีปัญหาเรื่องการบริการที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 6 หมื่นคนต่อวัน หากมีกิจกรรมตามแนวสถานี ปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.5 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งเกิดขีดรองรับของรถที่มีอยู่จำนวน 9 ขบวน จึงได้เร่งรัดในเรื่องการจัดซื้อรถใหม่จำนวน 7 ขบวน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเป็น 1.3 แสนคนต่อวัน โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตัดสินใจปัญหาเรื่องระบบอาณัติสัญญาณ และกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และเพื่อเตรียมเสนอ ครม.ให้ได้ภายในปีนี้
นอกจากนี้ ได้เร่งรัดให้จัดทำแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินอย่างเต็มที่ โดยหลักการต้องบริหารทรัพย์สินร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่เป็นบริษัทแม่ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มรายได้อีกทาง โดยให้ทำแผนพัฒนาธุรกิจ การพัฒนาพื้นที่ในสถานี ที่จอดรถ เป็นต้น โดยให้เสนอแผนมายังกระทรวงคมนาคมภายใน 2 สัปดาห์
นายพิชิตกล่าวว่า หลังจากนี้แอร์พอร์ตเรลลิงก์จะต้องปรับรูปแบบการบริหารใหม่ จากปัจจุบันที่ทำหน้าที่รับจ้างเดินรถ โดย ร.ฟ.ท.เป็นผู้ว่าจ้าง แอร์พอร์ตลิงก์รับค่าจ้างปีละ 200 กว่าล้านบาท แต่ไม่ได้ดูแลเรื่องซ่อมบำรุง จัดซื้อจัดจ้างเอง เพราะเป็นเรื่องของ ร.ฟ.ท. โดยขอปรับเป็นผู้เดินรถเอง รูปแบบจะเป็น PPP- Net Cost ส่วน ร.ฟ.ท.ยังคงถือหุ้น 100%ทรัพย์สินเป็นของ ร.ฟ.ท. โดยแอร์พอร์ตลิงก์ต้องเช่าใช้รางและทรัพย์สิน รับภาระต้นทุน ซ่อมบำรุง จัดซื้อจัดจ้างเองและรับรายได้ไปบริหารจัดการให้อยู่ในกรอบของรายจ่าย เพื่อไม่ให้ขาดทุน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำกำไรด้วย ซึ่งในระยะยาวจะสร้างความยั่งยืนให้องค์กร
“เรื่องแยกการบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ออกจาก ร.ฟ.ท. เป็นแผนเดิม แต่ล่าช้ามา 5 ปีแล้ว ผมมาเร่งรัดให้แยกให้เสร็จในปีนี้ เพราะถ้าทำได้จะทำให้แอร์พอร์ตลิงก์มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ซึ่งให้เร่งเสนอบอร์ด ร.ฟ.ท. กระทรวงคมนาคม และ คนร.โดยเร็ว เพราะมีแผนเดิมอยู่แล้ว นอกจากนี้ ได้เร่งรัดการสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่แอร์พอร์ตลิงก์คนใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้”
นายพิชิตกล่าวถึงกรณีโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน “อู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง” อาจจะกระทบต่อแอร์พอร์ตลิงก์ว่า เป็นนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะต้องรอความชัดเจนในเรื่องระบบโครงสร้างก่อน ส่วนการเดินรถรวมถึงตัวแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ที่ให้บริการในช่วงพญาไท-มักกะสัน-สุวรรณภูมินั้น จะเป็นการพิจารณาในลำดับต่อไป อย่างไรก็ตาม ด้วยศักยภาพของแอร์พอร์ตลิงก์ ทั้งบุคลากรที่มีคุณภาพสูง เชื่อว่าจะมีขีดความสามารถในการบริหารจัดการระบบรถไฟความเร็วสูงได้
สำหรับแผนเดิมในการแยกบริหารแอร์พอร์ตลิงก์นั้น จะโอนเฉพาะตัวรถไฟฟ้า 9 ขบวนให้แอร์พอร์ตลิงก์ ส่วนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบราง อาณัติสัญญาณต่างๆ ยังคงเป็นของ ร.ฟ.ท.โดยให้แอร์พอร์ตลิงก์เช่ารางจาก ร.ฟ.ท.เพื่อใช้งาน โดยค่าเช่ารางนั้นจะจ่ายในรูปของการดูแลซ่อมบำรุงรางให้แทน รวมถึงการซ่อมบำรุงระบบอาณัติสัญญาณด้วย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณปีละ 100 ล้านบาท กำหนดทุนจดทะเบียนบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด 2,000 ล้านบาท ชำระแล้ว 140 ล้านบาทยังขาดอีก 1,860 ล้านบาท ซึ่งได้เสนอขอแบ่งรับเป็น 3 งวด งวดแรก 420 ล้านบาท ช่วงปี 60-61 บริษัทฯ จะเริ่มถึงจุดคุ้มทุนและมีเริ่มมีกำไรจากการดำเนินงาน ส่วนเงินทุนงวดที่ 2 จำนวน 1,020 ล้านบาท งวดที่ 3 จำนวน 420 ล้านบาทนั้น บริษัทฯจะพิจารณาความเหมาะสมช่วงเวลาที่จะขอรับจากคลังต่อไป