xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ผ่าน กม.ราชพัสดุ-ประเมินมูลค่าทรัพย์สิน เห็นชอบประเด็นถกสุดยอดผู้นำแม่น้ำโขง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย)
“สรรเสริญ” เผย ครม. ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ. ราชพัสดุ - ประเมินมูลค่าทรัพย์สิน โอนงานให้คลังจัดการ พร้อมเห็นชอบประเด็นหารือของไทย และเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในอนุภูมิภาคกลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 6

วันนี้ (27 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ราชพัสดุ และร่างพ.ร.บ. การประมูลค่าทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์แห่งรัฐ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากพ.ร.บ. ราชพัสดุใช้มาตั้งแต่ปี 2518 และยังมีกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับที่มีข้อกำหนดยกเว้น ให้หน่วยงานหรือองค์กรของรัฐบางแห่งมีอำนาจในการปกครองดูแล บำรุงรักษา และจัดหาประโยชน์ที่เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ แทนที่จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง จึงจำเป็นต้องปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวให้มีความรัดกุม โดยมีการแก้ไขในประเด็นกำหนดบทนิยามคำว่า “ที่ราชพัสดุ” ให้มีความชัดเจน กินใจความรวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ตั้งอยู่นอกราชอาณาจักร อาทิ สถานทูตต่างๆ อีกทั้งยังกำหนดให้พื้นที่ลักษณะอย่างไร ที่ไม่ถือว่าเป็นที่รราชพัสดุ เช่น ที่รกร้างว่างเปล่า หรือพื้นที่สาธารณสมบัติที่พลเมืองใช้ร่วมกัน รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ขององค์กรมหาชน รัฐวิสาหกิจ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการที่ราชพัสดุเพิ่มอีก 3 ราย พร้อมกำหนดเพิ่มเติมว่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุ ต้องตราเป็น พ.ร.บ. เพื่อให้เกิดความรอบคอบรัดกุม แต่หากปรับเป็นที่สาธารณะที่พลเมืองใช้ร่วมกันสามารถตราเป็นพระราชกฤษฎีกาได้

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า การจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุ ให้ถือว่าไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) เว้นเสียแต่ว่าคณะกรรมการพีพีพี จะกำหนดว่ากิจการแบบใดบ้างที่ถือว่าเป็นการร่วมลงทุน ซึ่งบางกรณีเป็นการเช่นที่ดินที่ไม่ได้มีความซับซ้อน แต่เมื่อไรก็ตามที่มีการนำทรัพย์สินอย่างอื่นเข้าไปร่วม หรือมีความซับซ้อนเกิดขึ้น ต้องยึดตาม พ.ร.บ. พีพีพี และกำหนดเพิ่มเติมว่าการจัดหาประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุ มีมูลค่าเกินกว่า 5พันล้านบาท ต้องได้รับคามเห็นชอบจากคณะกรรมการที่ราชพัสดุก่อน

นอกจากนี้ หน่วยงานใดก็ตามที่มีการปกครองดูแล บำรุงรักษาที่ราชพัสดุ ให้หน่วยงานนั้น รายงานการใช้ประโยชน์แก่กรมธนารักษ์ทุก 2 ปี ใครก็ตามที่เข้าไปยึดครอง หรือก่อสร้าง แล้วก่อให้เกิดความเสื่อมสภาพต่อที่ดิน หรือทรัพยากร ให้มีโทษจำคุกไมเกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่น หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากกระทำการในเนื้อที่เกินกว่า 50 ไร่ ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนร่าง พ.ร.บ. การประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ แต่เดิมการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน เป็นหน้าที่ของกรมที่ดิน แต่ภายหลังการออก พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ปี 2545 ได้เปลี่ยนอำนาจหน้าที่เป็นของกรมธนารักษ์ แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ จึงจำเป็นต้องออกร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ให้ตรงกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยมีคณะกรรมการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน พร้อมกำหนดให้มีคณะกรมการประเมินมูลค่าทรัพย์สินในระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมูลค่าของทรัพย์สิน ทั้งที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ในเขตที่รับผิดชอบ และจัดทำบัญชีกำหนดมูลค่าประเมิน รวมทั้งแผนที่ประกอบการประเมิน โดยให้กรมธนารักษ์มีหน้าที่จัดให้มีข้อมูลดังกล่าว เพื่อประกาศให้ประชาชนรับทราบ เริ่มใช้บัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. แต่ให้ประกาศก่อนเริ่มใช้ 30 วัน เพื่อให้ประชาชนได้ตรวจดูว่าราคาที่ประเมินนั้นสอดคล้องความเป็นจริงหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามนั้น ก็มีสิทธิ์ร้องคัดค้านต่อคณะกรรมการได้ ซึ่งบัญชีดังกล่าวมีอายุการใช้งาน 4 ปี

ด้าน พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม. ได้เห็นชอบประเด็นหารือของไทย และเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในอนุภูมิภาคกลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 6 ซึ่งนายกฯ มีกำหนดที่จะเดินทางไปร่วมประชุม ระหว่างวันที่ 29 - 31 มี.ค. นี้ ที่กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สำหรับประเด็นหารือและข้อเสนอของประเทศไทยจะครอบคลุมทั้งหมด 6 ประเด็น อาทิ กรอบการลงทุนของภูมิภาคปี 2565 โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง ซึ่งจะเน้นย้ำการขยาย และเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งตามแนวระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง นโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะเน้นย้ำความสำคัญของนโยบายอีอีซี และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวระเบียงเศรษฐกิจในจีเอ็มเอส เพื่อเพิ่มโอกาสการพัฒนาฐานการผลิต เชื่อมโยง และการลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่การเชื่อมและเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าทั้งภายใน และภายนอกของอนุภูมิภาค และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการภัยพิบัติ ซึ่งจะเน้นย้ำการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการภัยพิบัติ โดยจะให้ความสำคัญต่อการร่วมกันเตรียมตัวรองรับต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลกในปัจจุบัน

พ.อ.อธิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับเอกสาร 3 ฉบับ คือ ร่างแถลงการณ์ร่วมระดับผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 6 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแสดงความชื่นชมการดำเนินงานตามแผนงานจีเอ็มเอสในช่วงเวลา 25 ปีที่ผ่านมา และแสดงถึงแนวทางการดำเนินงานแผนงานจีเอ็มเอสในอนาคต ฉบับที่ 2 จะเป็นร่างแผนปฏิบัติการฮานอย 2561 - 2565 ซึ่งจะมีหัวข้อสำคัญ 4 หัวข้อ อาทิ ยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ และการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเชิงสถาบัน และการเป็นหุ้นส่วน ส่วนเอกสารฉบับสุดท้ายเป็นกรอบการลงทุนในภูมิภาคปี 2565 เพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการฮานอยที่ได้กล่าวไปแล้ว จะประกอบด้วยโครงการความร่วมมือทั้งสิ้น 227 โครงการ ในสาขาความร่วมมือ 10 สาขา มีมูลค่ารวมประมาณ 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 2.088 ล้านล้านบาท ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเอง จะประกอบด้วย โครงการลงทุน และโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการจำนวน 79 โครงการ มูลค่ารวม 1.09 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแผนงานของประเทศไทยที่มีมูลค่ามากที่สุดมี 3 สาขา ได้แก่ สาขาคมนาคม เป็นการพัฒนาเส้นทางรถไฟ เด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ อันดับที่ 2 สาขาท่องเที่ยวที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการท่องเที่ยว และการส่งเาริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และอันดับที่ 3 สาขาพลังงาน จะเป็นการร่วมมือกับ สปป.ลาว เพื่อส่งพลังงานไฟฟ้าไปยังประเทศที่ 3


ภาคพลเมืองบุกศาลากลางจี้เลิกบ้านพักศาลเชิงดอยสุเทพ ธนารักษ์อ้างเพิ่งเคยเจอร้องเลิกโครงการบนที่ราชพัสดุ
ภาคพลเมืองบุกศาลากลางจี้เลิกบ้านพักศาลเชิงดอยสุเทพ ธนารักษ์อ้างเพิ่งเคยเจอร้องเลิกโครงการบนที่ราชพัสดุ
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - “ภาคพลเมืองเชียงใหม่” ขึ้นศาลากลางขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และกรมธนารักษ์จี้ยุติและยกเลิกโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บนพื้นที่เชิงดอยสุเทพทำป่าแหว่งแล้วย้ายไปที่อื่นที่มีความเหมาะสมแทน ขณะที่พรุ่งนี้ (27 มี.ค. 61) เตรียมเคลื่อนไหวต่อเนื่องเข้าพบ ผบ.มทบ.33 ด้านธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ยอมรับเพิ่งเคยเจอครั้งแรกที่มีการเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างในที่ราชพัสดุ
กำลังโหลดความคิดเห็น