คมนาคม สั่ง ร.ฟ.ท. ทำข้อมูลแผนอัตรากำลัง รองรับเดินรถสายสีแดง, รถไฟความเร็วสูงเพิ่มเติม และการบรรจุพนักงานที่ผ่านมา ก่อนสรุป เสนอ ครม. เพื่อขอยกเลิกมติ 28 ก.ค. 41 ขณะที่เฉพาะทางคู่เฟส 2 หากแล้วเสร็จ จะเดินรถได้ 720 ขบวนต่อวัน และต้องการพนักงานกว่า 1.9 หมื่นคน
นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เสนอขอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2541 ที่ให้รับพนักงานด้านปฏิบัติการได้ 5% ของพนักงานเกษียณอายุ ซึ่งได้ให้ทำข้อมูลเพิ่มเติม 2 - 3 ประเด็น เพื่อประกอบการนำเสนอ ครม. เช่น การบรรจุพนักงานในช่วงปี 2541 ถึงปัจจุบันภายใต้กรอบมติ ครม. ดังกล่าว เป็นอย่างไร สามารถบรรจุได้หมด หรือยังมีตำแหน่งเหลือว่างอีกหรือไม่ จำนวนเท่าไร พร้อมเหตุผลประกอบการ เนื่องจากยังพบว่ามีอัตราว่างอยู่ ซึ่ง ร.ฟ.ท. แจ้งว่า เตรียมอัตราไว้สำหรับนักเรียนที่จบจากโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ 2. บุคลากรรองรับการเดินรถไฟสายสีแดง 3. บุคลากรรองรับการเดินรถไฟความเร็วสูง ซึ่งหลังจากได้ข้อมูลแล้ว กระทรวงคมนาคมจะสรุปและสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนเสนอ ครม. ต่อไป
“การจะขอยกเลิกมติ ครม. ดังกล่าว รถไฟจะต้องทำแผนภารกิจและแผนด้านบุคลากรอย่างละเอียด ว่า จะใช้คนในภารกิจใด แต่ละปีบรรจุได้จำนวนเท่าไร มีตำแหน่งอะไรบ้าง เมื่อครม.เห็นชอบ จะต้องไปดำเนินการภายใต้แผนที่นำเสนอ”
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า จะเร่งส่งรายละเอียดแผนด้านบุคลาการต่อกระทรวงคมนาคมเพิ่มเติม ภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งการศึกษาจะเพิ่มอัตรากำลังเป็นระยะๆ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้น เช่น รองรับรถไฟทางคู่ระยะที่ 1, รถไฟทางคู่ระยะที่ 2 และการจัดหาหัวรถจักร, รถโดยสาร เป็นต้น รวมถึงบุคลากรสำหรับเดินรถไฟสายสีแดง ซึ่งที่ปรึกษาได้ศึกษาตัวเลขความต้องการด้านบุคลากรไว้แล้ว ส่วนรถไฟความเร็วสูง ภายใต้ความรวมมือไทย - จีน มีกรอบเบื้องต้นแต่ทั้งนี้ อาจต้องรอความชัดเจนเรื่องการดตั้งองค์กรพิเศษ ตามมติ ครม. ก่อน
อย่างไรก็ตาม หากประเมินเฉพาะต้นทุนค่าบุคลากร ของรถไฟ ในอนาคต อาจจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1 เท่า แต่เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากการเดินรถให้บริการทั้งโดยสารและสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากโครงข่ายรถไฟทางคู่ ถือว่าคุ้มค่า และการบรรจุพนักงานเพิ่ม จะส่งผลดีในแง่ ทำให้ต้นทุนค่าล่วงเวลา (โอที) ลดลงอีกด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบัน ร.ฟ.ท. ยังมีอัตรากำลัง 14,484 คน (พนักงาน 10,723 คน, ลูกจ้าง 3,761 คน) โดยอยู่ส่วนการเดินรถประมาณ 3,917 คน, ด้านการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อนประมาณ 3,881 คน ขณะที่ มีค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนกว่า 4 พันล้านบาทต่อปี ค่าล่วงเวลา กว่า 1 พันล้านบาทต่อปี
โดยปัจจุบันมีรถโดยสาร 234 ขบวนต่อวัน รถสินค้า 40 ขบวนต่อวัน มีพนักงานและลูกจ้างประมาณ 14,220 คน ต้องทำงานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 6 วัน และทำงานล่วงเวลา แต่เมื่อรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 แล้วเสร็จ จะมีรถโดยสารเพิ่มเป็น 274 ขบวนต่อวัน รถสินค้าเป็น 115 ขบวนต่อวัน ต้องการพนักงานประมาณ 16,660 คน และทางคู่เฟส 2 แล้วเสร็จ จะมีรถโดยสารและรถสินค้า 720 ขบวนต่อวัน มีพนักงานและลูกจ้างที่ 19,260 คน
สำหรับการศึกษาแผนกรอบอัตรากำลังในช่วงปี 2559 - 2568 จำนวน 19,241 คน เป็นพนักงาน 16,660 คน ลูกจ้าง 2,581 คน โดยมีแผนรับพนักงานรวม 5,637 อัตราภายใน 5 ปี จะมีทั้งการรับพนักงานใหม่ และปรับในส่วนของลูกจ้างเป็นพนักงาน โดยการจ้างพนักงานเพิ่มดังกล่าวจะส่งผลให้มีเงินเดือนสูงขึ้น 682.51 ล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่ายค่าทำงานล่วงเวลาลดลง 521.62 ล้านบาทต่อปี