xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟขาดคนทำงาน! สหภาพฯ ชี้ใน 2 ปี ไม่บรรจุเพิ่ม อาจต้องหยุดวิ่งบางขบวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สหภาพรถไฟ” สวนผู้บริหาร กางตัวเลขพนักงานลูกจ้างชี้ขาดแคลนถึง 7,851 อัตรา เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการ ชี้ต้องทำงานล่วงเวลาเกินกว่ากฎหมายกำหนด ต้องจ่ายค่าโอทีปี 60 กว่าพันล้าน ชี้อีก 1-2 ปีไม่บรรจุเพิ่มจะวิกฤตหนัก และอาจต้องลดขบวนการเดินรถได้

รายงานข่าวแจ้งว่า สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ได้ออกแถลงการณ์เพื่อขอให้การรถไฟฯ และรัฐบาลเร่งมาตรการเพิ่มอัตราพนักงาน โดยระบุว่า จากกรณีที่นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ชี้แจงว่าปัจจุบันมีพนักงานและลูกจ้างชั่วคราว รวม 14,220 อัตรา เดินรถโดยสาร วันละ 234 ขบวน และรถสินค้าวันละ 40 ขบวนได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ มีการทำงานล่วงเวลาและวันหยุดเฉลี่ยสัปดาห์ละ 6 วัน มีค่าล่วงเวลาและค่าทำงานวันหยุดคิดเป็น 25% ของค่าจ้าง ขณะที่เมื่อทางคู่ระยะที่ 1 เสร็จ จะเดินรถวันละ 389 ขบวน เพิ่มพนักงานเป็น 16,660 คน และทางคู่ระยะที่ 2 เสร็จ จะเดินรถเป็นวันละ 720 ขบวน และมีพนักงาน 19,260 คนนั้น ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากที่ผ่านมารถไฟเดินรถโดยสาร 234 ขบวน/วัน และขบวนรถสินค้า 40 ขบวน/วัน ส่วนพนักงานและลูกจ้างลดลงมาตลอด 20 ปี ซึ่งปัจจุบันมี 14,220 อัตรา แต่ต้องการจริง 22,071 อัตรา เท่ากับยังขาดถึง 7,851 อัตรา ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของความปลอดภัยในการเดินรถ เกี่ยวข้องกับคุณภาพการให้บริการด้านโดยสาร ซึ่งได้แก้ปัญหาโดยนำลูกจ้างชั่วคราวมาทำหน้าที่ปฏิบัติงานที่มีความสำคัญ และมีความรับผิดชอบสูงเพื่อทดแทนพนักงานที่ขาดในหลายด้าน เช่น พนักงานรถนอน พนักงานห้ามล้อ (ตัดตั๋วโดยสารบนขบวนรถ) เสมียนขายตั๋ว พนักงานประจำสถานี พนักงานซ่อมบำรุง รถจักรรถโดยสาร ระบบล้อเลื่อนต่างๆ พนักงานที่ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยซ่อมบำรุงสะพาน อุโมงค์ ระบบราง ไม้หมอน สภาพทางต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์ ซึ่งลูกจ้างชั่วคราวเหล่านี้บางคนทำงานมาแล้วหลายปีแต่ก็ไม่สามารถบรรจุเข้าเป็นพนักงานประจำได้ทำให้ขาดขวัญ และกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างยิ่ง

ในส่วนของพนักงานประจำที่ต้องทำงานเฉพาะด้านที่ไม่สามารถให้ลูกจ้างชั่วคราวปฎิบัติหน้าที่แทนได้ อาทิ พนักงานขับรถจักร ช่างเครื่อง นายสถานี นายสถานีผู้แทน ฯลฯ จึงต้องทำงานล่วงเวลาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และต้องทำงานในวันหยุดโดยไม่สามารถใช้สิทธิ์ลาหยุดงานได้

ส่วนที่อ้างว่าพนักงานจะทำงานเฉลี่ยคนละ 6 วันต่อสัปดาห์เป็นการนำพนักงานในส่วนกลาง และพนักงานตามเขตแขวงต่างๆ กว่า 2,000 คนที่จะทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน หยุดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ มาคิด
ขณะที่ค่าตอบแทนโอทีของพนักงานที่ 25% ของค่าจ้าง หรือปีละ 750 ล้านบาท ก็ไม่ถูกต้อง ซึ่งปี 2560 มีค่าโอทีถึง 1,069,411,400 บาท ถ้าหากเอาจำนวนเงินดังกล่าวมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวหรือจ้างพนักงานเพิ่มเพื่อนำมาทดแทนพนักงานที่มีไม่เพียงพอก็จะทำให้คนไทยมีงานทำเพิ่มขึ้นอีกหลายพันอัตรา นอกจากนี้ ลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานมานานแล้วก็จะมีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ได้อีกด้วย
 
สำหรับ แผนเพิ่มขบวนรถเป็นวันละ 389 ขบวน เพิ่มพนักงานเป็น 16,660 คน เมื่อรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 แล้วเสร็จ และทางคู่ระยะที่ 2 กับทางคู่สายใหม่แล้วเสร็จจะมีการเดินขบวนรถเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 720 ขบวน และต้องมีพนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 19,260 คนนั้น สร.รฟท.ระบุว่า ทางคู่ระยะที่ 1 จะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2565 หรืออีก 4 ปี 6 เดือนข้างหน้า จึงจะสามารถรับพนักงานและลูกจ้างชั่วคราวได้อีก 2,440 อัตรา

ขณะที่ในระหว่างปี 2561 ถึงตุลาคม 2565 จะมีผู้ที่เกษียณอายุอีก 2,387 คน ดังนั้น หากยังไม่สามารถรับพนักงานใหม่ได้โดยเร็วในอีก 1-2 ปีข้างหน้า การรถไฟฯ จะเข้าสู่ภาวะวิกฤตหนักกว่านี้จนถึงขั้นต้องยกเลิกเดินขบวนรถในหลายเส้นทางเพื่อนำพนักงานมาเกลี่ยในเส้นทางเฉพาะที่มีความจำเป็นเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังขอให้ ร.ฟ.ท.ทบทวนมติคณะกรรมการ (บอร์ด) รถไฟฯ ในการประชุมครั้งที่ 27/2560 เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม 2560 ที่เห็นชอบให้แก้ไขระเบียบการรถไฟฯ ฉบับที่ 5.5 ว่าด้วยโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ ให้มีการเปิดรับสมัครนักเรียน วิศวกรรมรถไฟ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป โดยไม่มีเงื่อนไขผูกพันกับการรถไฟฯ ที่จะต้องบรรจุผู้ที่สำเร็จการศึกษาให้ต้องเป็นพนักงานของการรถไฟฯ เรื่องจาก เป็นมติที่ขัดแย้งต่อนโยบายของรัฐบาล ในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางรางเป็นเงินหลายแสนล้านบาท ซึ่งต้องการบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถผ่านการศึกษาด้านระบบการขนส่งทางรางเป็นจำนวนมากเพื่อขับเคลื่อนโครงการ


กำลังโหลดความคิดเห็น