xs
xsm
sm
md
lg

“แอร์พอร์ตลิงก์” ยันซ่อมบำรุงใหญ่ ที่อื่นก็ตั้ง พนง.คุมงานเอง เผยล้อหมดพิกัดเจอส่งของช้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากเว็บไซต์ www.srtet.co.th
MGR Online - รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. แจงกรณีการซ่อมบำรุงใหญ่ตามวาระส่อไม่ได้คุณภาพ ตามที่กลุ่มสหภาพฯ ร้องเรียน ระบุล้อรถไฟฟ้าขบวนที่ 6 หมดพิกัด ซึ่งอยู่นอกสัญญา จึงสั่งอุปกรณ์อีกบริษัท แต่การขนส่งล่าช้า คิดค่าปรับแล้ว ส่วนการประมูลไม่ได้ผูกขาด แต่อีกบริษัทเอกสารไม่ครบ และการแต่งตั้งพนักงานควบคุมงานเอง รถไฟฟ้าอื่นๆ ก็มีอยู่แล้ว

วันนี้ (2 เม.ย.) นายวิสุทธิ์ จันมณี กรรมการ และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ชี้แจงต่อกองบรรณาธิการ “ผู้จัดการรายวัน 360” กรณีที่มีรายงานข่าวว่า การซ่อมบำรุงใหญ่ตามวาระ (Overhaul) ขบวนรถโดยสาร 9 ขบวน ส่อว่าไม่ได้คุณภาพ ตามที่กลุ่มสหภาพรักความเป็นธรรมได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เนื่องจากสัญญากำหนดงานแล้วเสร็จ 510 วัน หรือ 17 เดือน ถือว่าล่าช้า และแต่งตั้งพนักงานขึ้นหนึ่งคณะเป็นผู้ควบคุมงานเอง แทนที่จะจ้าง THIRD PARTY ในระดับสากล หรือรับรองโดยบริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้าตรวจสอบและควบคุมคุณภาพนั้น คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

นายวิสุทธิ์ระบุว่า การซ่อมบำรุงใหญ่ตามวาระ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จหนึ่งขบวนจะต้องมีการตรวจสอบความพร้อมของรถไฟฟ้าก่อนให้บริการจริง จากการตรวจสอบพบว่าระหว่างการซ่อมบำรุงขบวนที่ 6 พบว่าล้อของรถไฟฟ้าหมดพิกัด จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนล้อใหม่ แต่การเปลี่ยนอุปกรณ์ล้อไม่ได้อยู่ในสัญญากับบริษัทที่ดำเนินการซ่อมบำรุงใหญ่ ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องสั่งซื้ออุปกรณ์ล้อกับอีกบริษัทหนึ่งซึ่งบริษัทที่ดำเนินการส่งล้อทำการขนส่งล่าช้าทำให้เกิดความล่าช้าในการซ่อมบำรุงใหญ่จากแผนเดิมที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการคิดค่าปรับบริษัทที่ดำเนินการส่งอุปกรณ์ล้อล่าช้าตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง

ส่วนการประมูลจ้างซ่อมบำรุงใหญ่ มีบริษัทที่ยื่นเอกสารทางด้านราคา และเทคนิค 2 ราย ไม่ได้มีเพียงกิจการร่วมค้าณิบทีเอ็มทีเพียงบริษัทเดียว แต่อีกหนึ่งบริษัท มีคุณสมบัติและข้อเสนอทางด้านเทคนิคไม่ครบถ้วน เนื่องจากส่งเอกสารไม่ครบ ส่วนบริษัทผู้รับจ้างซ่อมบำรุงใหญ่ จะต้องดำเนินการรับรองคุณภาพของรถไฟฟ้าที่ได้ดำเนินการซ่อมบำรุงใหญ่อยู่แล้ว และการซ่อมบำรุงใหญ่ของรถไฟฟ้าอื่นๆ ก็มีการแต่งตั้งพนักงานเป็นผู้ควบคุมงานเองเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การล่าช้าจะไม่มีผลต่อความปลอดภัยในการเดินรถ แต่อาจจะมีผลกระทบบ้างในเรื่องความไม่เพียงพอของจำนวนรถ


กำลังโหลดความคิดเห็น