กรมท่าอากาศยานเตรียมชง “คมนาคม” เห็นชอบแผน PPP เปิดเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาสนามบินภูมิภาค 3 แห่ง “เพชรบูรณ์-โคราช-บุรีรัมย์” คาดเปิดประมูลในปี 62 ด้านอธิบดี ทย.เผยต้องชะลอ PPP ชุมพร หลังนโยบายเล็งให้ ทอท.รับบริหาร
นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า ขณะนี้ได้สรุปแผนเบื้องต้นในการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) พัฒนาสนามบินแล้วจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ สนามบินเพชรบูรณ์, นครราชสีมา และบุรีรัมย์ ซึ่งลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาสนามบิน 4 แห่ง โดยชะลอในส่วนของสนามบินชุมพรไว้ก่อนเนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาตามนโยบายที่ต้องการให้ ทอท.รับไปดำเนินการ โดยจะนำเสนอ PPP นี้ต่อกระทรวงคมนาคมในเดือน เม.ย.เพื่อขออนุมัติ จากนั้นจะดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 ต่อไป
หากกระทรวงคมนาคมเห็นชอบกรมฯ จะจ้างที่ปรึกษาศึกษาวิเคราะห์แนวทางและรูปแบบการพัฒนาประมาณ 6-8 เดือน หรือประมาณปลายปีนี้น่าจะมีความชัดเจนด้านมูลค่าลงทุน และรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม อายุสัมปทาน และหากไม่มีข้อติดขัดคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงปี 2562
“ต้องรอนโยบายเห็นชอบแผน PPP สนามบิน 3 แห่งก่อนถึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการศึกษาจึงจะทราบถึงแนวทางการพัฒนารูปแบบที่จะให้เอกชนร่วมลงทุน จะมีกิจกรรมใดบ้าง พื้นที่เท่าไร แยกแต่ละแห่ง หรือสัมปทานรายเดียวรวมทั้ง 3 แห่ง อายุสัมปทาน และมูลค่าการลงทุน โดยจะต้องดูแนวโน้มความต้องการของตลาด และศักยภาพของพื้นที่รอบๆ สนามบินด้วย”
อธิบดีกรมท่าอากาศยานกล่าวว่า แต่ละสนามบินมีจุดเด่นแตกต่างกัน กรณีสนามบินเพชรบูรณ์ห่างจากเขาค้อ 30 กม. มีแหล่งท่องเที่ยว และมีพื้นที่อีก 2,700 ไร่ มีจุดขายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมด้านกีฬา เช่น สนามกอล์ฟ หรือพื้นที่สำหรับจอดเครื่องบิน โดยจะต้องต่อความยาวรันเวย์จาก 2,100 เมตร เป็น 2,500 เมตรรองรับเครื่องบินลำตัวกว้าง
ส่วนสนามบินบุรีรัมย์ มีกิจกรรมด้านกีฬาและพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยจะต้องลงทุนขยายความยาวรันเวย์ เฟสแรกจาก 2,100 เมตร เป็น 2,500 เมตร และระยะต่อไปเป็น 3,000 เมตร ส่วนสนามบินนครราชสีมา เบื้องต้นพบว่ามีความเหมาะสมกับศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul) หรือ MRO ซึ่งจะผลักดันให้มีการขยายตัวมากขึ้น รวมถึงโรงเรียนฝึกนักบิน