กรมท่าอากาศยานเตรียมประกาศโซนนิ่งการใช้พื้นที่ และเตรียมปรับอัตราค่าเช่าเชิงพาณิชย์ภายในสนามบินภูมิภาคใหม่ให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินที่เติบโตสูง “อธิบดี ทย.” เผยอัตราใหม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ และมีระบบ POS ตรวจสอบยอดขาย แบ่งกลุ่มสนามบินเกรดเอ และเกรดรองชัดเจน คาดปี 61 รายได้ Non Aero จะเพิ่มขึ้นจากปี 60 ที่มีเพียง 120 ล้าน
นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า ตามแผนการบริหารจัดการพื้นที่ท่าอากาศยานภูมิภาคเพื่อเพิ่มรายได้จากทรัพย์สิน และอาคาร รวมถึงพื้นที่ส่วนเหลือจากกิจกรรมด้านการบินนั้น กรมฯ ได้ให้คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาระเบียบการจัดเก็บ, อัตราการจัดเก็บ ค่าเช่าพื้นที่ภายในท่าอากาศยาน ซึ่งจะมีการจัดแบ่งโซนนิ่งของพื้นที่ให้สามารถบริการผู้โดยสารให้ดีมากยิ่งขึ้น มีการกำหนดฟังก์ชันบริการที่มีความจำเป็นให้ชัดเจน เช่น ตรวจคนเข้าเมือง, ห้องละหมาด เป็นต้น รวมถึงกำหนดบริการและประเภทสินค้าที่หลากหลาย รวมถึงเปิดพื้นที่สำหรับกลุ่ม Startup กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ให้มีส่วนร่วมอย่างเหมาะสม และครบถ้วน
ทั้งนี้ อัตราค่าเช่าพื้นที่ใหม่นั้นจะสอดคล้องกับปริมาณเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน โดยจะกำหนดเป็นสูตรให้ผันแปรไปตามปริมาณผู้โดยสารและรายได้ที่เกิดขึ้นจริง ขณะที่กรมฯ จะนำระบบ Point of Sale (POS) เข้ามาช่วยตรวจสอบยอดขาย ซึ่งเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ แทนการกำหนดอัตราแบบตายตัว เนื่องจากหากผู้โดยสารมีปริมาณน้อยทำให้ยอดขายลดลงจะไม่เกิดปัญหาแก่ผู้ประกอบการที่ต้องจ่ายค่าเช่าสูงกว่ารายได้ที่เกิดขึ้นจริง โดยจะประกาศบังคับใช้ระเบียบและอัตราใหม่ภายในปี 2561 ซึ่งจะเริ่มใช้ที่สนามบินอุบลราชธานี และแม่สอด ที่สัญญาเดิมหมดอายุ โดยสัญญาเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสนามบินภูมิภาคจะมีอายุ 3 ปี
“แนวทางดังกล่าวจะสอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันและในอนาคต และเป็นการทำธุรกิจที่เหมาะสม มีรายได้เข้ารัฐที่เหมาะสมและเป็นธรรม ขณะเดียวกันจะมีการควบคุมราคาที่เป็นธรรม ไม่ให้ผู้โดยสารได้รับความเดือดร้อน มีการประกาศพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดการบุกรุกของรานค้าในอนาคตอีกด้วย ขณะเดียวกัน ทุกสนามบินจะจัดพื้นที่ให้กับวิสาหกิจชุมชนเพื่อสนับสนุนท้องถิ่นตามนโยบายรัฐบาล โดยกำหนดเกณฑ์ที่เอื้อให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นอยู่ได้ กรมฯ ไม่ได้บริหารแบบธุรกิจอย่างเดียว แต่จะประสานกับชุมชนรอบสนามบินด้วย”
รายงานข่าวแจ้งว่า อัตราค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ใหม่นั้นจะแบ่งกลุ่มท่าอากาศยานทั้ง 28 แห่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1. สนามบินที่มีเที่ยวบินและปริมาณผู้โดยสารสูง อัตราค่าเช่าพื้นที่ใหม่ อาจจะปรับเพิ่มจากเดิมเกือบ 100% เช่น กระบี่, สุราษฎร์ธานี, อุดรธานี, ขอนแก่น เป็นต้น 2. สนามบินระดับกลาง อัตราใหม่เพิ่มจากเดิมเฉลี่ย 50% เช่น แพร่, น่าน และ 3. สนามบินที่ยังมีเที่ยวบินและปริมาณผู้โดยสารไม่มากนัก เช่น ชุมพร, ระนอง อัตราใหม่เพิ่มจากเดิมเล็กน้อย
ในปี 2560 กรมฯ มีรายได้จากกิจการที่เกี่ยวกับด้านการบิน (Aero) เช่น ค่าธรรมเนียมการบิน (Landing/Parking) และค่าธรรมเนียมผู้โดยสาร (PSC) รวมประมาณ 1,263.8 ล้านบาท และปี 2561 ช่วง 6 เดือนแรก (ต.ค. 60-มี.ค. 61) มีรายได้รวม 649.3 ล้านบาท ส่วนรายได้จากกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน (Non-Aero) เช่น ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์และรายได้เบ็ดเตล็ดอื่นๆ (รวมค่าคัดกรองผู้โดยสาร APPS) ในปี 2560 มีทั้งสิ้น 120.9 ล้านบาท ปี 2561 ช่วง 6 เดือนแรก (ต.ค. 60-มี.ค. 61) มีรายได้รวม 87.38 ล้านบาท ซึ่งประมาณการรายได้ปี 2561 คาดว่าจะเติบโตจากปี 2560 ประมาณ 7% อย่างไรก็ตาม การปรับอัตราค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสนามบินทั้ง 28 แห่งจะมีส่วนทำให้รายได้ด้าน Non-Aero เพิ่มขึ้นและมีผลต่อรายได้รวมของกรมฯ แน่นอน