ดัชนีการค้าบริการเดือน ก.พ.โต 4.9% เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 เผยมีถึง 8 สาขาที่เติบโตต่อเนื่อง ระบุที่พักแรมและร้านอาหารมาแรงโต 19.9% เหตุนักท่องเที่ยวเพิ่ม นโยบายเที่ยวเมืองรองหนุน ส่วนการขนส่งและที่เก็บสินค้า การเงินและประกันภัย ค้าปลีกค้าส่ง ก็โตเช่นเดียวกัน ด้านการก่อสร้างหดตัว 4.1% แต่เชื่อยังไปได้ดี เหตุรัฐ-เอกชนยังมีการลงทุน
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีภาวะการค้าบริการของไทยเดือน ก.พ. 2561 อยู่ที่ 106.5 เพิ่มขึ้น 4.9% เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยสาขาบริการที่ขยายตัวสูงมี 8 สาขา แยกเป็น 5 สาขาที่ขยายตัวเร่งขึ้น ได้แก่ การขายส่งและการขายปลีก การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย และศิลปะ และ 3 สาขาที่ยังคงขยายตัวแต่ชะลอลงจากเดือนก่อน ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ กิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์ และการศึกษา ส่วนสาขาที่หดตัวมี 5 สาขา ได้แก่ การก่อสร้าง ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร บริการสุขภาพ กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน และกิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ
ทั้งนี้ ในสาขาบริการที่มีการเติบโตสูง พบว่าบริการที่พักแรมและร้านอาหารเติบโตสูงสุด 19.9% ซึ่งได้รับผลดีจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น 19.3% และยังได้รับผลดีจากนโยบายเที่ยวเมืองรอง ธนาคารปล่อยสินเชื่อ ทำให้เอกชนมีการขยายกิจการเพิ่ม สาขาการขนส่งและสถานที่จัดเก็บสินค้า โต 11.3% จากความต้องการของผู้บริโภคและธุรกิจทำให้ผู้ประกอบการมีการเพิ่มทุนกันมากขึ้น สาขาการเงินและการประกันภัย โต 9% จากการที่สถาบันการเงินยกเลิกค่าธรรมเนียมการใช้บริการ และบางธนาคารปรับรูปแบบสาขาเป็นแหล่งส่งเสริมความรู้ให้ผู้ประกอบการ และสาขาการขายส่งและขายปลีก โต 3.5% ซึ่งเพิ่มจากยอดขายที่สูงขึ้น มีนิติบุคคลจดทะเบียนเพิ่มทุนมากขึ้น ราคาหุ้นของกลุ่มขายส่งปลีกเพิ่มขึ้น มีการเตรียมมาตรการกระตุ้นยอดขายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และยังมีการขยายธุรกิจค้าออนไลน์ โดยการลงทุนทั้งผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่
ส่วนสาขาสำคัญอื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ โต 2.3% การศึกษา โต 4.2% ศิลปะและความบันเทิง โต 5.3% และวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ โต 7.8%
สำหรับสาขาที่ขยายตัวลดลง เช่น การก่อสร้าง ลด 4.1% มาจากการลดลงของดัชนีราคาหุ้นสาขาก่อสร้าง การจ้างงานที่ลดลงเพราะผู้ประกอบการกังวลในเรื่องการขาดแคลนแรงงาน แต่ยังเชื่อว่าการก่อสร้างจะเติบโตได้ต่อไป เนื่องจากมีการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) การเพิ่มขึ้นของโครงการที่อยู่อาศัย และการร่วมทุนกับผู้ประกอบการต่างประเทศ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สนค.ได้ประเมินแนวโน้มการค้าบริการในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยสาขาบริการที่มีศักยภาพและแนวโน้มดี เช่น การขายส่งและการขายปลีกจะเติบโตตามการขยายตัวของการค้าขายออนไลน์ ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร เติบโตตามจำนวนนักท่องเที่ยว นโยบายเที่ยวเมืองรอง และกระแสการท่องเที่ยวตามวัฒนธรรมไทย อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง เติบโตตามการลงทุนภาครัฐและเอกชน สาขาสุขภาพ เติบโตตามกระแสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น