คมนาคม หารือ ”ไจก้า” ศึกษากรอบรถไฟฟ้าในแผนแม่บทเฟส 2 วางแนวผุดสายรองและสายย่อยเชื่อม สถานีแม่น้ำและมักกะสัน จ่อหั่นสีเขียวต่อขยาย ช่วงคูคต-ลำลูกกา,สมุทรปราการ-บางปู หากเจรจากทม.ยืดเยื้อ “อาคม”เร่งประมูลสีม่วงใต้ ,สีส้มตะวันตก ปิดจ๊อบแผนแม่บทเฟส 1
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมติดตามความก้าวหน้าการจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมถึงพื้นที่ต่อเนื่อง ระยะที่ 2 (M-MAP 2) ว่า ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นหรือไจก้าซึ่งให้ความช่วยเหลือในการศึกษาแบบให้เปล่า ในการวางกรอบแนวเส้นทางระบบขนส่งในแผนแม่บทระยะ 2 ให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองและพื้นที่แปลงใหญ่ เช่น สถานีแม่น้ำ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เป็นต้น
ทั้งนี้ แผนแม่บทระยะที่ 2 จะเน้นการทำศูนย์กลางย่อย (Sub Center) รอบเมือง นอกจากเหนือจากสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อระบบขนส่งในเมือง รถไฟระหว่างเมือง รถไฟฟ้าความเร็วสูง จะมีที่มักกะสัน และสถานีแม่น้ำ เบื้องต้นจะมี 5 สาย เช่น สายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) สายสีเทา (วัชรพล-สะพานพระราม 9-ท่าพระ) สายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้า กรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน-ประชาธิปก) สาย บางนา-สุวรรณภูมิ และ เชื่อมเข้าสถานีแม่น้ำ ซึ่งในระยะ 2 อาจจะมีทั้งโมโนเรล ,รถไฟฟ้ารางเบา, ระบบ BRT ซึ่งหากกรุงเทพมหานคร(กทม.) ซึ่งเป็นหน่วยงานท้องถิ่นต้องการเป็นผู้ดำเนินโครงการ สามารถเสนอขอลงทุนได้
โดยในวันที่ 30 เม.ย.นี้จะมีการประชุมสัมมนา และจัดทำรายงานการศึกษาฉบับกลาง และสรุปรายงานการศึกษาในเดือนส.ค.2561 จากนั้น จะเป็นการศึกษารายละเอียดของแต่ละเส้นทางที่กำหนดใน แผนแม่บทระยะ 2 ต่อไป
“ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้ผลักดันรถไฟฟ้าที่อยู่ในแผนแม่บทระยะที่ 1 ซึ่งเหลือสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เตรียมเปิดประมูลก่อสร้าง สายสีส้ม ด้านตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์) อยู่ระหว่างศึกษาการร่วมลงทุน (PPP) ก่อนเสนอครม.”
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ที่ นอกจากนี้ได้ให้ไกจ้าช่วยประเมิน สายสีเขียว เหนือ (คูคต-ลำลูกกา) ระยะทาง 6.75 กม. และสีเขียวใต้ (สมุทรปราการ-บางปู) ระยะทาง 9.2 กม.ว่า ยังมีความจำเป็นอีกหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้ได้มีการชะลอโครงการไว้เนื่องจากรอการเจรจาเรื่องหนี้สินกับกทม.ในการโอนสายสีเขียว ส่วนสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย นั้นเนื่องจากที่ผ่านมายังไม่ผ่าน EIA ซึ่งหลักการจะต้องพยายามแก้ไข หรืออาจจะหาทางปรับแบบให้สอดคล้องกับกายภาพพื้นที่ ที่เปลี่ยนแปลงไปมากในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ไจก้า จะศึกษากรอบแนวเส้นทางที่ควรจะมี ใน10-20 ปีข้างหน้า จากนั้นสนข.จะนำแผนมาพิจารณากลั่นกรอง ซึ่งยังมีเวลา เนื่องจากจะต้องดำเนินการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าในแผนแม่บทระยะที่ 1 ให้เสร็จก่อน ซึ่งคาดว่าสายสีส้ม จะก่อสร้างเสร็จในปี 2567-2568
สำหรับนโยบายและมาตรการสำคัญในการพัฒนาแผนแม่บท M-MAP2 ดังนี้
1. เพิ่มเครือข่ายและความสามารถในการรองรับการคมนาคมขนส่ง เพื่อให้สอดรับกับทำเลที่พักอาศัยของประชาชนในปัจจุบันและในอนาคต รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีการเชื่อมโยงระหว่างใจกลางเมืองและเมืองรอง (Sub – Center) โดยกำหนดพื้นที่ในรัศมี 40 20 และ 10 กิโลเมตร โดยมีสถานีสยาม สีลม มักกะสัน และพระราม 9 เป็นสถานีศูนย์กลาง และเสนอแนวทางการศึกษาโดยวางแผนบนพื้นฐานของ (1) แผนงานโครงสร้างภูมิภาค (2) การเติบโตของปริมาณประชากร และ (3) ปริมาณอุปสงค์/อุปทานในพื้นที่
2. การเพิ่มการเข้าถึง ความสะดวก และความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ
3. การเชื่อมโยงระหว่างสถานีและการพัฒนาพื้นที่โดยรอบตามแนวเส้นทางรถไฟ รวมถึงบูรณาการการพัฒนาพื้นที่โดยรอบด้วย
4. การส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและการบริการรถโดยสารประจำทาง นโยบายด้านอัตราค่าโดยสาร และมาตรการในการเชื่อมต่อระบบขนส่ง
5. การเพิ่มการเข้าถึงสนามบิน (Global Gateways) โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านเวลาและความสะดวก รวมถึงการจัดเตรียมเส้นทางทางเลือกเพื่อเดินทางสู่สนามบิน