xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมสั่ง รฟม.เตรียมเดินรถสีเขียว เร่งเปิดปลายปี-กทม.หมดเวลายื้อหนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กทม.เบี้ยวประชุม โอนหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวไร้ข้อสรุป อ้างรอสภา กทม.ประชุม เม.ย.นี้ก่อน ด้านคมนาคมสั่ง รฟม.เตรียมแผนสอง นัด กทม.ประชุม 20 เม.ย. เซ็ง กทม.หากยังยึกยัก ไม่ชัดเจน ปัดฝุ่นแผน รฟม.เดินรถเอง และชง คจร.ทบทวนมติล้มข้อตกลงโอนให้ กทม. เผยไม่อยากให้ ป.ป.ช.กลายเป็นตัวประกัน ยัน ธ.ค. 61 ต้องเปิดเดินรถถึงสมุทรปราการ

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2561 ที่มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เพื่อติดตามผลการพิจารณาข้อเสนอด้านการเงินสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งกรุงเทพมหานคร(กทม.) จะรับโอนการเดินรถจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทสไทย (รฟม.) ตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์  รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  ยังไม่มีข้อสรุปเนื่องจาก กทม.ไม่มาร่วมประชุม โดยส่งหนังสือชี้แจงว่าอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของสภา กทม.ซึ่งมีกำหนดประชุมในเดือน เม.ย.นี้

ทั้งนี้ ได้กำหนดที่จะประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีกครั้งในวันที่ 20 เม.ย.นี้ พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้ รฟม.จัดทำรายละเอียดแผนการบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวมานำเสนอด้วย หาก กทม.ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนในเรื่องการรับโอนและการชำระหนี้ ได้ จะได้มีทางเลือกสำหรับพิจารณาเพื่อให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ สามารถเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2561 ตามแผน

ก่อนหน้านี้ รฟม.ได้เคยเสนอแผนบริหารการเดินรถเองมาแล้ว แต่เนื่องจากการหารือร่วมกับ กทม.ในการรับโอนการเดินรถตามมติ คจร.ยังไม่ได้ข้อยุติ จึงชะลอแผนของ รฟม.ไปก่อน ดังนั้น หากวันที่ 20 เม.ย. กทม.ยังไม่มีความชัดเจนของแผนการชำระหนี้ หรือสภา กทม.ไม่อนุมัติ มีความเป็นไปได้ที่ประชุมจะพิจารณาแผนให้ รฟม.เดินรถเอง

สำหรับกรณี รฟม.บริหารการเดินรถเองนั้นจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (PPP) ซึ่งจะต้องเสนอ คจร.เพื่อทบทวนมติเดิมที่ให้ กทม.เดินรถมาเป็น รฟม.เดินรถ จากนั้นจะเร่งรัดดำเนินการ PPP ซึ่งแนวทางอาจจะต้องใช้การเจรจาตรงกับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) เนื่องจากใช้เวลาน้อยกว่าเปิดประมูล และเดินรถแบบต่อเนื่อง (Through Operation)

อย่างไรก็ตาม นายไพรินทร์ได้เคยระบุว่า เรื่องการเจรจาโอนเดินรถสายสีเขียวและหนี้สินกับ กทม.นั้นจะต้องเร่งหาข้อยุติโดยเร็ว หากทำตามแผน 1 ไม่ได้ก็ต้องใช้แผน 2

ขณะที่ข้อเสนอของ กทม.นั้น ได้ขอให้รัฐสนับสนุนโดยขอปลอดหนี้ในช่วง 10 ปีแรก (2562-2572) และจะจ่ายชำระหนี้ได้ในปีที่ 11 โดยค่าลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ค่างานโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 21,085.47 ล้านบาท งานติดตั้งระบบเดินรถ 8,895 ล้านบาท (ไม่รวมค่าตัวรถ) ส่วนสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ค่างานโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 39,730.25 ล้านบาท และงานติดตั้งระบบเดินรถ 14,807 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น