ผู้ว่าฯ กทม.เผยส่งแนวทางชำระหนี้สินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้สภา กทม.แล้ว ระบุฝ่ายบริหารตัดสินใจเองไม่ได้ ส่วน รฟม.จะจัดเดินรถเอง อยากทำก็รับไป กทม.ไม่มีปัญหา พบแนวทางใช้วิธีจ่ายดอกเบี้ย 2.1 พันล้าน 10 ปี พร้อมจ้างบีทีเอสเดินรถ ก่อนเริ่มจ่ายเงินต้นปี 2573
จากกรณีที่การประชุมติดตามการโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีมติเร่งรัดให้ กทม.สรุปการรับโอนหนี้งานด้านโยธาให้เร็วที่สุด หากสภา กทม.ไม่สามารถสรุปเรื่องการโอนโครงการนี้ได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ รฟม.จะเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อขอบริหารจัดการเดินรถเองในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) โดยมีเวลาดำเนินการ 9 เดือน เพื่อให้เปิดเดินรถช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ได้ภายในเดือนธันวาคม 2561
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมาได้รวบรวมแนวทางการชำระหนี้สินส่งให้สภา กทม.เพื่อหารือว่าจะมีความเห็นอย่างไร เพราะฝ่ายบริหารไม่สามารถตัดสินใจชำระหนี้ต่างๆ ได้เอง แต่หาก รฟม.จัดการเดินรถเอง อยากทำก็รับไป กทม.ไม่มีปัญหา แต่การเดินรถไฟฟ้าช่วงกลางยังเป็นของ กทม.
รายงานข่าวแจ้งว่า แนวทางที่ กทม.จะชำระหนี้ให้กับ รฟม. ประกอบด้วย ค่าโครงสร้างพื้นฐาน งานโยธา และค่าติดตั้งระบบเดินรถ รวม 6.6 หมื่นล้านบาท กทม.จะขอกระทรวงการคลังหาแหล่งเงินทุนเพื่อให้ กทม.นำไปชำระหนี้ โดย 10 ปีแรก กทม.ชำระเฉพาะดอกเบี้ยให้กระทรวงการคลังก่อนปีละ 2,100 ล้านบาท จากนั้นจึงชำระเงินต้น
ส่วนการเดินรถ กทม.ได้หารือกับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส โดยให้บีทีเอสเดินรถและออกค่าใช้จ่ายไปก่อน โดยจะจ่ายค่าจ้างเดินรถรวมดอกเบี้ยตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป ซึ่งประมาณการว่าใน 10 ปีแรกจะขาดทุนปีละ 2,100 ล้านบาท ประเด็นนี้ สภา กทม.ต้องหารืออย่างละเอียดรอบคอบ เนื่องจากกังวลว่าจะกระทบต่องบประมาณของ กทม.