“ไพรินทร์” ยันเปิดเดินรถสีเขียวใต้ “แบริ่ง-สมุทรปราการ” ธ.ค.นี้ นัด กทม.ให้คำตอบโอนหนี้ปลาย พ.ค.นี้ หากไม่ยุติให้ รฟม.ดึงเดินรถคืน ขณะที่ “กรุงเทพธนาคม” เผยสั่งรถ 15 ขบวนให้บริการโดย 2 ขบวนแรกรับในปลาย พ.ค.นี้ และครบทั้งหมด ก.ค. และเริ่มทดสอบเสมือนจริง ต.ค.นี้ ด้าน รฟม.รอปลดล็อก กม.เวนคืน พัฒนาเชิงพาณิชย์จุด Park & Ride
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กม. บริเวณสถานีการเคหะฯ และอาคารศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) หลังสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง จังหวัดสมุทรปราการ ว่าขณะนี้การก่อสร้างในส่วนของงานโยธาเสร็จแล้ว เหลืองานระบบ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดเดินรถได้ภายในเดือน ธ.ค. 2561 นี้ ซึ่งทางบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (CT) จะเริ่มนำรถไฟฟ้าเข้ามาเริ่มทดสอบในเดือน มิ.ย.เป็นต้นไป โดยสีเขียวใต้นี้จะมีจุดต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ที่สถานีสำโรง ซึ่งสายสีเหลืองจะเปิดเดินรถในปี 2564
ส่วนกรณีการโอนเดินรถสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ให้ กทม. ตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจร (คจร.) เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2558 นั้นขณะนี้ยังเจรจากับ กทม.ไม่ได้ข้อยุติ โดยจะประชุมร่วมกับ กทม.อีกครั้งปลายเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งจะรอฟังคำตอบที่ชัดเจนของ กทม.ก่อนเพื่อตัดสินใจ ทั้งนี้ รฟม.ได้เสนอแผนการเดินรถเองตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (PPP) ต่อกระทรวงคมนาคมแล้ว หากการเจรจากับ กทม.ไม่ยุติ จะให้ รฟม.ดำเนินการเพื่อให้สามารถเปิดเดินรถได้ภายในปลายปีนี้
สำหรับการก่อสร้างสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ขณะนี้คืบหน้าแล้วประมาณ 60% และในปี 2561 นี้จะเปิดใช้อุโมงค์แยกรัชโยธินได้ ขณะที่แผนเปิดเดินรถไฟฟ้าจะภายในปี 2563
ทั้งนี้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ได้ว่าจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เป็นผู้เดินรถ ซึ่งได้จัดหารถไฟฟ้าสำหรับสายสีเขียวใต้ จำนวน 15 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ โดยปลายเดือน พ.ค.นี้ รถ 2 ขบวนแรกจะเข้ามาและเริ่มนำมาทดสอบ และจะทยอยรับรถครบทั้ง 15 ขบวนภายในเดือน ก.ค. และจะเริ่มทดสอบเสมือนจริง (Trial Run) ในเดือน ต.ค. 2561 โดยกำหนดความถี่ในการให้บริการชั่วโมงเร่งด่วน เช้า และเย็น ความถี่ 5-6 นาที/ขบวนและช่วงนอกเวลาเร่งด่วนความถี่ 8-10 นาที/ขบวน
โดย บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบีทีเอสซี ได้ซื้อขบวนรถเพิ่ม จำนวน 36 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ รวม 144 ตู้ แยกเป็นสำหรับช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ 15 ขบวน และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต 21 ขบวน
รฟม.รอปลดล็อก กม.เวนคืน พัฒนาเชิงพาณิชย์จุด Park & Ride สายสีเขียว
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า สายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กม.มี 9 สถานี มูลค่าลงทุนรวม 27,673 ล้านบาท แบ่งเป็นด้านงานโยธา โครงสร้างและงานระบบราง 21,085 ล้านบาท และด้านติดตั้งระบบเดินรถ 6,588 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ถึงเดือน เม.ย. 2561 มีความก้าวหน้า 59.93% (แผนงาน 63.06%) หรือล่าช้า 3.13% โดยสายทางนี้มีลานจอดแล้วจร (Park & Ride) ที่บริเวณสถานีเคหะฯ พื้นที่ประมาณ 18 ไร่ รองรับรถได้ประมาณ 700 คัน ซึ่งตามแผน รฟม.จะบริหาร Park & Rideเอง ไม่ได้โอนให้ กทม. โดยมีแนวทางการพัฒนาเชิงพาณิชย์ แต่เนื่องจากต้องรอการพิจารณาปลดล็อคข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ที่ดินจากการเวนคืนก่อนซึ่งหากปลดล็อกได้มากจะสามารถพัฒนาได้ในขอบเขตที่ใหญ่ขึ้น
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ รฟม.เริ่มก่อสร้างเมื่อต้นปี 2555 ซึ่งงานโยธาแล้วเสร็จตั้งแต่ปลายปี 2559 ได้แก่ โครงสร้างทางวิ่ง สถานียกระดับ ศูนย์ซ่อมบำรุง อาคารจอดแล้วจร และงานระบบราง โดยเป็นโครงสร้างรถไฟฟ้าแบบยกระดับตลอดเส้นทางมี 9 สถานี ดังนี้ 1) สถานีสำโรง 2) สถานีปู่เจ้า 3) สถานีช้างเอราวัณ 4) สถานีโรงเรียนนายเรือ 5) สถานีปากน้ำ 6) สถานีศรีนครินทร์ 7) สถานีแพรกษา 8) สถานีสายลวด 9) สถานีเคหะฯ มีลานจอดแล้วจ (Park & Ride) ตั้งอยู่บริเวณสถานีเคหะฯ ริมถนนสุขุมวิท พื้นที่ประมาณ 18 ไร่ รองรับรถได้ประมาณ 700 คัน และมีศูนย์ซ่อมบำรุงฯ ตั้งอยู่บริเวณหลังสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง ประกอบด้วย อาคารบริหารและศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการเดินรถ อาคารซ่อมบำรุงหลัก อาคารจอดรถไฟฟ้า รางทดสอบ และอาคารประกอบอื่นๆ รวมพื้นที่ประมาณ 123 ไร่
แนวเส้นทางเชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้า BTS ที่สถานีแบริ่ง บริเวณซอยสุขุมวิท 107 ไปตามแนวเกาะกลางของถนนสุขุมวิท ผ่านคลองสำโรง ผ่านแยกเทพารักษ์ แยกปู่เจ้าสมิงพราย เมื่อถึงบริเวณจุดตัดกับโครงการถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้ แนวจะเบี่ยงจากเกาะกลางไปทางด้านทิศตะวันตกของถนนสุขุมวิท เพื่อข้ามทางต่างระดับสุขุมวิท จากนั้น จึงเบี่ยงกลับมาอยู่ในแนวเกาะกลางถนนสุขุมวิท ผ่านแยกศาลากลาง แยกการไฟฟ้า แยกแพรกษา แยกสายลวด จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณหน้าสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง