xs
xsm
sm
md
lg

เลาะไซต์ก่อสร้างมอเตอร์เวย์ “บางปะอิน-โคราช” คืบหน้า 32%-เม.ย.เปิดชิงเค้กสัมปทานระบบ O&M

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมทางหลวงเผยมอเตอร์เวย์ “บางปะอิน-โคราช” คืบหน้า 32% เร็วกว่าแผน 5% ส่วน “บางใหญ่-กาญจนบุรี” ล่าช้า 6-8 เดือน เหตุยังติดปมค่าเวนคืนบานเป็นกว่า 1.97 หมื่นล้าน ผู้รับเหมาเข้าพื้นที่ไม่ได้ ลุ้น ครม.อนุมัติเพิ่มงบเวนคืนอีก 1.4 หมื่นล้าน ทล.ขายซองงานระบบ O&M เม.ย.นี้ ปลายปีได้ตัวผู้บริหารระบบ

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา ว่า ขณะนี้การก่อสร้างมีความคืบหน้า 32% เร็วกว่าแผนประมาณ 5% มั่นใจว่าสามารถดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จได้ตามกำหนดภายในเดือนกรกฎาคม 2563

ส่วนทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 (สายบางใหญ่-กาญจนบุรี) ขณะนี้คืบหน้า 6% ล่าช้ากว่าแผนประมาณ 16% เนื่องจากยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ผู้รับจ้างได้ เพราะติดปัญหาเวนคืน โดยกรมฯ ได้รับกรอบงบประมาณเวนคืนที่ 5,429 ล้านบาท อยู่ระหว่างเสนอเพิ่มกรอบค่าเวนคืนอีก 14,317 ล้านบาท รวมเป็น 19,737.51 ล้านบาท ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภาพรวมงานจะล่าช้ากว่าแผน 6-8 เดือน

สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) ในรูปแบบ PPP Gross Cost ของทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 (สายบางปะอิน-นครราชสีมา) วงเงิน 33,258 ล้านบาท และทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 (สายบางใหญ่-กาญจนบุรี) วงเงิน 27,828 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 60 มีมติเห็นชอบให้กรมทางหลวงดำเนินการนั้น กรมทางหลวงมีแผนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 โดยจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในเดือนมีนาคม ขายซองเอกสารในเดือนเมษายน เอกชนจัดทำเอกสารและยื่นข้อเสนอในเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม, ประเมินข้อเสนอ และเจรจาต่อรองในเดือนกันยายน-ตุลาคม, ตรวจร่างสัญญาและเสนอขออนุมัติผลการคัดเลือกในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบและลงนามสัญญาในเดือนมกราคม 2562

ทั้งนี้ งาน O&M สายบางใหญ่-กาญจนบุรี เมื่อประมูลแล้วจะชะลอการลงนามสัญญาไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับงบค่าเวนคืนเพิ่ม และควรให้งานก่อสร้างงานโยธาคืบหน้าประมาณ 50% อย่างไรก็ตาม จะเร่งรัดงานก่อสร้างเพื่อเปิดสายบางใหญ่-กาญจนบุรีได้ภายในปลายปี 2563 อย่างช้าต้นปี 2564

****ใช้ IRI ตรวจวัดความเรียบผิวทาง ไม่ได้มาตรฐานสั่งรื้อใหม่

นอกจากนี้ กรมทางหลวงมีนโยบายตรวจสอบสภาพความเรียบของผิวทางโครงการเพื่อเพิ่มคุณภาพผลงานการก่อสร้างให้มีความเรียบของผิวทางอยู่ในเกณฑ์ที่ดีโดยไม่เพิ่มภาระงบประมาณในการก่อสร้าง และโครงการก่อสร้างทางหลวงต้องได้รับการตรวจสอบสภาพความเรียบของผิวทางก่อนการตรวจรับงานจากสำนักวิเคราะห์และตรวจสอบ กรมทางหลวง สภาพความเรียบของผิวทางที่ได้รับการตรวจสอบต้องเป็นตามข้อกำหนด

1. สำหรับผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีต สภาพความเรียบของผิวทางต้องมีค่าดัชนีความขรุขระสากล (International Roughness Index : IRI) ไม่เกิน 2.0 เมตร/กิโลเมตร
2. สำหรับผิวทางคอนกรีต สภาพความเรียบของผิวทางต้องมีค่าดัชนีความขรุขระสากล (International Roughness Index : IRI) ไม่เกิน 2.5 เมตร/กิโลเมตร ถ้าผิวหน้าของพื้นคอนกรีตตอนใดไม่สม่ำเสมอหรือไม่ได้มาตรฐานของกรมทางหลวงที่กำหนด ผู้รับจ้างจะต้องรื้อแผ่นพื้นคอนกรีตแผ่นนั้นยาวอย่างน้อย 3 เมตร ตลอดความกว้างและความหนาของแผ่นพื้นคอนกรีตแผ่นนั้นออกแล้วหล่อคอนกรีตให้ใหม่โดยให้มีรอยต่อก่อสร้างตามขวางตามแบบ ทั้งนี้ผู้รับจ้างต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด

ซึ่งมอเตอร์เวย์มีสเปกกำหนดไว้ในทีโออาร์ผิวทางคอนกรีตค่าความเรียบต้องไม่เกิน 2.5 เมตร/กิโลเมตร โดยกรมฯ มีเครื่องมือวัดได้ที่ระดับ 1.6 เมตร/กิโลเมตร ถือว่าได้มาตรฐานสูง และใกล้เคียงกับถนนลาดยาง ขณะที่เทียบกับสหรัฐอเมริกากำหนดค่าความเรียบถนนลาดยางไม่เกิน 1.5 เมตร/กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้ตั้งงบประมาณจัดซื้อเครื่องวัดความเรียบผิวทาง 18 ตัว วงเงินตัวละประมาณ 2 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะสามารถเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งระหว่างภาคต่างๆ ของประเทศได้อย่างสมบูรณ์ มีความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ แก้ไขปัญหาจราจรระหว่างภาค ส่งเสริมทั้งในภาคธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยว ด้วยแนวเส้นทางที่สามารถรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าไปยังทั่วทุกภูมิภาค เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายลอจิสติกส์ของประเทศ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียนต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น