“กรมทางหลวง” โรดโชว์ระบบ O&M มอเตอร์เวย์ 2 สาย มูลค่ากว่า 6.1 หมื่นล้าน ก่อนขายซอง ปลายมี.ค.นี้ คาด “โทลล์เวย์-BEM-BTS” ร่วมชิงดำรับสัมปทาน 30 ปี “ธานินทร์” เผยสายบางใหญ่-กาญจนบุรี คืบ 5% ล่าช้ากว่า 8 เดือน เหตุที่ดินราคาพุ่ง เร่งชง ครม.กลาง ก.พ.ขอเพิ่มค่าเวนคืนอีก 1.4 หมื่นล้าน เลื่อนเปิดใช้ในปี 64
นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาเผยแพร่ข้อมูลโครงการก่อนประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ว่า การให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนระบบ O&M นอกจากเป็นการพัฒนาระบบมอเตอร์เวย์ให้ได้มาตรฐานสากลแล้ว แนวเส้นทางที่เชื่อมภูมิภาคจะช่วยเสริมโครงข่ายลอจิสติกส์ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้าและพัฒนาเศรษฐกิจประเทศให้ยั่งยืน โดยจะเปิดโอกาสให้เอกชนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทุกภาคส่วนรับทราบข้อมูลรายละเอียดและร่วมแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ก่อนออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนอย่างเป็นทางการในเดือน ก.พ. 2561
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า จะสรุปรายละเอียด TOR และออกประกาศเชิญชวนเอกขนร่วมลงทุนแบบ PPP Gross Cost ได้ปลายเดือน ก.พ. ขายซองประมูลปลายเดือน มี.ค. ให้เวลาจัดทำข้อเสนอ 4 เดือน (เม.ย.-ก.ค.) ยื่นข้อเสนอต้นเดือน ส.ค. ใช้เวลาพิจารณาข้อเสนอ 2 เดือน โดยมี 3 ซอง (คุณสมบัติ/เทคนิค/ราคา) ซึ่งจะเน้นระบบที่ทันสมัย ไม่มีปัญหารถติดหน้าด่าน มีต้นทุนในการบริหารจัดการและซ่อมบำรุงต่ำ ซึ่งคาดว่าจะสรุปผลได้ในเดือน ต.ค. และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติในเดือน ธ.ค. 2561
ทั้งนี้ ครม.อนุมัติกรอบวงเงิน O&M มูลค่าปัจจุบัน (NPV) สายบางปะอิน-นครราชสีมา ไม่เกิน 33,000 ล้านบาท สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ไม่เกิน 28,000 ล้านบาท โดยเอกชนจะลงทุน 2 ระยะ คือ 1. ออกแบบและก่อสร้างระบบ/ด่าน/อาคาร ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน โดยทรัพย์สินจะเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมทางหลวง ซึ่งสายบางปะอินกรอบประมาณ 7,000 ล้านบาท สายบางใหญ่ ประมาณ 6,000 ล้านบาท ระยะ 2 เป็นการดำเนินงานและบำรุงรักษาตลอด 30 ปี รายได้ต้องส่งเข้ากองทุนมอเตอร์เวย์ทั้งหมด
โดยปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธา สายบางปะอิน-นครราชสีมา คืบหน้า 25% คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2563 ซึ่งจะลงนามสัญญางาน O&M ได้ต้นปี 2562 ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี เปิดได้ปลายปี 2563 ส่วนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี คืบหน้า 5% ล่าช้ากว่าแผนประมาณ 8-9 เดือนแล้ว เนื่องจากติดปัญหาจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งในกลางเดือน ก.พ.นี้ จะเสนอ ครม.ขออนุมัติค่าเวนคืนเพิ่มอีก 14,317.51 ล้านบาท จากเดิมที่ได้รับแล้ว 5,420 ล้านบาท จากนั้นจะเข้าพื้นที่และเร่งรัดการก่อสร้างต่อไป ซึ่งจะทำให้ลงนามงาน O&M ช้ากว่า และประเมินว่าจะแล้วเสร็จและเปิดได้ช่วงต้นปี 2564
“ขณะนี้มีเอกชนสนใจ 6-7 กลุ่ม ส่วนบริษัทต่างชาติมีหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง ตอนนี้บอกไม่ได้ว่าระบบใครดีกว่ากันขึ้นกับเทคโนโลยีที่เสนอ และราคาต้องไม่เกินกรอบโดยประเมินปริมาณจราจรในปีแรกของสายบางปะอินไว้ที่ 1.7-1.8 หมื่นคัน/วัน สายบางใหญ่ประมาณ 8-9 พันคัน/วัน มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 2-3% ต่อปี”
สำหรับเงื่อนไขเบื้องต้น บริษัทร่วมทุนที่จะเข้าร่วมประมูลนั้น สัดส่วนต่างชาติมีได้ไม่เกิน 49% โดยต้องมีผู้ถือหุ้นไทย 51% ขณะที่บริษัทที่เป็นแกนนำนั้น จะต้องเป็นคนไทยและต้องถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนในสัดส่วน 35% หรือ 1 ใน 3 ซึ่งคุณสมบัติเบื้องต้นจะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ในการบริหารงานทางพิเศษ และงานระบบราง เป็นต้น โดยขณะนี้ผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติและคาดว่าจะเข้าร่วมประมูลอยู่ที่จะร่วมทุนจับมือกับระบบอะไร เช่น บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM รวมถึงบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เป็นต้น