กสม. เสนอกรมทางหลวงแก้ปัญหาสร้างมอเตอร์เวย์ บางปะอิน - นครราชสีมา และ สายบางใหญ่
- กาญจนบุรี ชี้ ข้อมูลรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมล้าสมัย ส่งผลมาตรการลดผลกระทบไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน เข้าข่ายละเมิดสิทธิการมีส่วนร่วมประชาชน ซ้ำค่าเวนคืนไม่เป็นธรรม แนะตั้ง คกก. ร่วม 3 ฝ่ายทบทวน จุดที่ตั้ง - ขนาดพื้นที่บริการ - ค่าเวนคืน พร้อมชงรัฐแก้ พ.ร.บ. เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ - พ.ร.บ. ส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กำหนดให้รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีอายุแค่ 5 ปี
วันนี้ (27 ก.ย.) นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กล่าวว่า กสม. ได้มีการตรวจสอบกรณีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน - นครราชสีมา และ สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี และเห็นว่า โครงการก่อสร้างทั้ง 2 เส้นทางดังกล่าว เป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งมีผลกระทบต่อกลุ่มผู้ร้องทั้งในคุณภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร และมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ กสม. พบว่า รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ของทั้ง 2 โครงการ เป็นข้อมูลที่มีการศึกษามานานกว่า 10 ปี จึงทำให้มาตรการลดผลกระทบไม่สอดคล้องสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน สภาพสังคม ชุมชนในปัจจุบันซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเมื่อ 10 ปีที่แล้วอย่างมาก
นางเตือนใจ กล่าวว่า และเมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กรมทางหลวงศึกษาจัดทำรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ แต่การจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในขั้นตอนดังกล่าวไม่ทั่วถึง เช่น ไม่มีการชี้แจงทำความเข้าใจ เผยแพร่เอกสารหรือข้อมูลให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอก่อนการจัดรับฟังความคิดเห็น การเชิญประชุมในระยะกระชั้นชิดส่งผลให้กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการกลับไม่สามารถเข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะให้หน่วยงานรัฐนำข้อเสนอไปประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต และสุขภาพของประชาชนได้อย่างเหมาะสม จึงถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน
ส่วนการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของประชาชนเพื่อนำไปใช้ก่อสร้างโครงการมอเตอร์เวย์ทั้งสองสายซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจของรัฐที่กระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของประชาชนอย่างรุนแรงนั้น กสม.เห็นว่าการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของประชาชนโดยเฉพาะพื้นที่บริการทางหลวง (Service Area) บริเวณตำบลดอนแฝก อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม (กม.19+500) ซึ่งใช้พื้นที่ถึง 140 - 200 ไร่นั้น เป็นการเวนคืนที่ดินเกินความจำเป็น อีกทั้งหากมีการนำที่ดินที่ได้จากการเวนคืนไปให้เอกชนเข้าดำเนินการในรูปแบบ PPP (Public Private Partnership) เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากอาจขัดต่อหลักการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งให้ทำได้เฉพาะเพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น
นอกจากนั้น ยังมีความเห็นว่า การกำหนดค่าทดแทนการเวนคืนซึ่งไม่ใช้ราคาที่ดินที่ซื้อขายในปัจจุบัน ทำให้ผู้ถูกเวนคืนที่ดินต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำประโยชน์ในราคาที่สูงกว่าปกติ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ถูกเวนคืน การจ่ายค่าทดแทนการเวนคืนควรพิจารณาถึงความเสียหายของผู้ถูกเวนคืนและประโยชน์ที่รัฐและผู้ถูกเวนคืนจะได้รับการจ่ายค่าทดแทนการเวนคืนควรอยู่บนหลักการว่าค่าทดแทนและความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ต้องเพียงพอให้ประชาชนผู้ถูกเวนคืนสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้โดยไม่ด้อยไปกว่าก่อนการถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
“กสม. จะมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไปยังกระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงว่าควรแต่งตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนของประชาชน ผู้ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพิจารณาการกำหนดค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินให้เกิดความเป็นธรรม และพิจารณาทบทวนตำแหน่งจุดที่ตั้งและขนาดพื้นที่บริการทางหลวง (Service Area) ให้ใช้พื้นที่เท่าที่จำเป็นและต้องใช้ที่ดินนั้นตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเท่านั้น และควรร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น ตัวแทนประชาชน จัดตั้งคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่ร่วมในการออกแบบและก่อสร้างหน้างานเพื่อแก้ไขปัญหา และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด” นางเตือนใจ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังได้มีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ว่าด้วยเรื่องการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้รายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการหรือคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอายุไม่เกิน 5 ปี ทั้งนี้ เพื่อให้มาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ให้สอดคล้องกับหลักการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ด้วย