xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านโวยโครงการขุดลอกแม่น้ำตรังล่าช้า หวั่นเกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - ชาวหนองตรุด โวยโครงการขุดลอกแม่น้ำตรังล่าช้า จนหวั่นเกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำ และบางส่วนก็ยังไม่ได้ค่าเวนคืน ทั้งที่ผ่านมาปีกว่า ด้านหัวหน้าฝ่ายก่อสร้างชลประทาน แจงกำลังเร่งดำเนินการแล้ว

วันนี้ (26 พ.ค.) นายวิศาล เพชรคง ตัวแทนชาวบ้านตำบลหนองตรุด อ.เมืองตรัง กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านใน 5 หมู่บ้านของตำบลหนองตรุด จำนวนกว่า 100 คน กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากโครงการขุดลอกแม่น้ำตรัง ที่มีระยะทางยาว 7.55 กิโลเมตร และกว้าง 102 เมตร ด้วยงบประมาณ 601 ล้านบาท ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 ไปถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2561 แต่ผ่านมาปีกว่าแล้ว ชาวบ้านที่ต้องเวนคืนที่ดินบางส่วนให้แก่สำนักงานชลประทาน รวมทั้งหมด 233 แปลง เนื้อที่ 747 ไร่ แต่ได้รับค่าเวนคืนแล้วเพียง 107 แปลง เป็นเงิน 142 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งที่ทั้งหมดได้ตัดโค่นสวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน เพื่อให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเข้าดำเนินการขุดลอกแล้ว ทำให้ต้องขาดรายได้วันละตั้งแต่ 500-800 บาท
 

 
อีกทั้งการก่อสร้างก็เป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้ชาวบ้านหวั่นว่าหากเกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน จะมีน้ำท่วมซ้ำในพื้นที่ และจะทำให้พนังกั้นแม่น้ำตรังที่กำลังก่อสร้างพังทลายลงมา จนน้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือน และพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายเหมือนกับเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากการขุดลอกคลองผันน้ำลงสู่แม่น้ำตรังในครั้งนี้ ได้มีการสูบน้ำทิ้งลงในสวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมันของชาวบ้าน ส่งผลให้ระดับน้ำท่วมสูงตั้งแต่ 10-20 เซนติเมตร จนชาวบ้านไม่สามารถกรีดยางพาราได้ดังเดิม ส่วนแปลงที่ตัดโค่นสวนยางพาราไปแล้ว ก็ต้องไปหารายได้จากการออกไปเก็บเห็ดแครงแทน ทำให้เกิดผลกระทบตามมามากมาย ชาวบ้านจึงเรียกร้องให้กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจ่ายเงินค่าเวนคืนที่ดินให้แก่ชาวบ้าน และเร่งดำเนินโครงการด้วย
 

 
ด้าน นายพิณ ปานแดง หัวหน้าฝ่ายก่อสร้างที่ 3 สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 กรมชลประทาน กล่าวว่า งบค่าเวนคืนที่ดินของชาวบ้านที่เหลืออีก 99 ล้านบาท กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ และที่ผ่านมา อบต.หนองตรุด เจ้าของพื้นที่ก็ได้ทำหนังสือชี้แจงต่อชาวบ้านไปแล้ว โดยตนจะเข้าไปพูดคุยในเร็วๆ นี้อีกครั้ง ส่วนสาเหตุที่งานล่าช้าจากที่ตั้งเป้าไว้ 38 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับเหลือเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากติดขัดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ครั้งที่ผ่านมา และส่วนหนึ่งมาจากปัญหาที่ชาวบ้านยังไม่ได้ค่าเวนคืน จึงยังไม่มีการส่งมอบพื้นที่ จึงส่งผลให้การทำงานเป็นไปอย่างล่าช้า
 


กำลังโหลดความคิดเห็น