กรมทางหลวง จ่อเปิดประมูล PPP มอเตอร์เวย์ “นครปฐม - ชะอำ” วงเงิน 8.06 หมื่นล้านบาท เดือน ก.ย. 61 ได้ตัวผู้รับสัมปทานลงทุนเบ็ดเสร็จ ส่วนรัฐรับเฉพาะค่าเวนคืน ส่วนงานระบบเก็บเงินสายบางปะอิน - โคราช และ บางใหญ่ - กาญจนบุรี วงเงินรวมกว่า 6.1 หมื่นล้าน ขายซอง พ.ค.- ก.ค. ส่วนทางยกระดับ บางขุนเทียน - มหาชัย วงเงินกว่า 2 หมื่นล้าน ปรับแผนชงของบปี 62 เร่งลงทุน แทน PPP หวั่นล่าช้า อาจเป็นคอขวดตรงจุดเชื่อมกับ ด่วนพระราม - ดาวคะนอง ได้
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ในปี 2561 กรมทางหลวงจะเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายนครปฐม -
ชะอำ ระยะทาง 119 กม. วงเงินลงทุน 8.06 หมื่นล้านบาท โดยจะเชิญชวนผู้สนใจลงทุนเข้ามาร่วมรับฟังโครงการฯ ช่วงปลายเดือน ก.พ. 2561 จากนั้นจะประกวดราคา ตามขั้นตอน PPP และตามแผนงาน คาดว่าจะได้ตัวผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการ ในเดือน ก.ย. 2561
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน (พ.ร.ฎ.) ซึ่งรัฐจะเป็นผู้ลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงินประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท โดยได้รับจัดสรรงบประมาณเวนคืนในช่วงเริ่มต้น ในปี 2561 แล้วจำนวน 100 ล้านบาท ส่วนเอกชน จะเข้ามาลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธา และระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง (O&M) ระบบควบคุมจราจร งานที่พักริมทาง (Service Area)
นอกจากนี้ ในปี 2561 จะมีการเปิดประมูลในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance:O&M) ในรูปแบบ PPP Gross Cost ของทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 (สายบางปะอิน - นครราชสีมา) วงเงิน 33,258 ล้านบาท และ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 (สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี) วงเงิน 27,828 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาร่วมลงทุน 30 ปี ซึ่งตามแผนงาน จะประกาศเชิญชวนพร้อมขายซองเอกสารประมูลนานาชาติ (ICB) ในเดือน พ.ค.- ก.ค. 2561 จะมีการประเมินข้อเสนอและเจรจาต่อรองในเดือน ส.ค. 2561 จะพิจารณาผลคัดเลือกและตรวจร่างสัญญาในเดือน ก.ย. 2561 กระทรวงคมนาคมจะพิจารณาผลการคัดเลือกเอกชน ใน ต.ค. 2561 จะเสนอ ครม. พิจารณาผลการคัดเลือกเอกชนและอนุมัติลงนามสัญญา
สำหรับสายหาดใหญ่ - สะเดา (ชายแดนไทย - มาเลเซีย) ระยะทาง 70 กม. วงเงินลงทุน 3.05 หมื่นล้านบาท อยู่ในขั้นตอนการแก้ไขรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เตรียมเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชานาญการฯ (คชก.) พิจารณา ก่อนนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) อนุมัติ คาดจะได้ตัวผู้ร่วมลงทุน (PPP) ในปี 2562
ส่วนทางยกระดับบนถนนพระราม 2 ช่วงแรกจะก่อสร้าง ช่วงบางขุนเทียน - มหาชัย ก่อนนั้น ได้เตรียมแผนเสนอของบประมาณดำเนินการในปี 2562 วงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง เพื่อให้การต่อเชื่อมจาก ทางด่วนสาย พระราม 3 - ดาวคะนอง - ถนนวงแหวนรอบนอก ของการทางพิเศษแห่งประเทศ (กทพ.) ได้อย่างสะดวก ช่วยให้การเดินทางสู่ภาคใต้ สะดวกรวดเร็วมากขึ้น
ทั้งนี้ ในแผนงานเดิม ทางยกระดับบางขุนแทียน - มหาชัย ได้วางแผนดำเนินโครงการในรูปแบบ PPP แต่เนื่องจากเกรงว่าจะล่าช้า ไม่ทันกับการก่อสร้างทางด่วนพระราม 3 - ดาวคะนอง ของ กทพ. และอาจทำให้เกิดปัญหาในการเชื่อมต่อระหว่าง 2 โครงข่ายได้ จึงขอปรับมาใช้งบประมาณดำเนินการก่อสร้างก่อนในช่วงแรก และแยกงานระบบ O&M ประมูล PPP ส่วนในอนาคตหากมีการต่อเชื่อมจาก มหาชัย - วังมะนาว การก่อสร้างจะลงทุนรูปแบบ PPP และปรับส่วนแรกที่รัฐลงทุนไปรวมภายหลัง
โดยรูปแบบด่านเก็บค่าธรรมเนียมช่วง บางขุนเทียน - มหาชัย นั้น จะศึกษาแนวทางที่ผู้ใช้ทางสะดวกที่สุด เช่น อาจใช้วิธีแบ่งรายได้ค่าผ่านทางกับ กทพ. โดยคิดตามจำนวนรถที่ใช้ในแต่ละโครงข่าย ซึ่งทำให้ไม่จำเป็นต้องสร้างด่านเก็บค่าผ่านทางตรงบริเวณจุดต่อเชื่อมกับทางด่วน โดยจะมีด่านที่ปลายทางมหาชัยเพียงจุดเดียว ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดคอขวดในช่วงต่างระดับบางขุนเทียน